วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรู้คู่คุณธรรม

ความรู้คู่คุณธรรม

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์


มีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่าระหว่างความรู้กับคุณธรรม อะไรสำคัญกว่ากันในโลกยุคสื่อสารไร้พรมแดน ข้อมูลหลั่งไหลมาได้จากทั่วทิศ มีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ ข้อมูลบางอย่างก็นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ นำความเสื่อมเสียทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมมาให้ แต่คนเราก็ต้องแสวงหาความรู้ เพราะเชื่อมั่นว่าความรู้คือกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ
คนไทยให้ความสำคัญกับการเรียน เพื่อให้ได้ความรู้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าชนชาติใด ๆ จะเห็นได้จากการที่แย่งกันเข้าเรียนในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงกันอยู่ประจำ จนยากที่จะแก้ได้ ทั้งนี้คงเชื่อว่าถ้าบุตรหลานได้เรียนโรงเรียนดัง ๆ แล้วจะได้ความรู้มากกว่าโรงเรียนอื่น คนเรียนเก่งก็ได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม สมัยหนึ่งถึงกับมีการจัดลำดับคนที่สอบได้คะแนนเป็นลำดับที่เอาไว้ แต่คนเรียนเก่งหลายคนต่อมาก็ประสบความล้มเหลวในชีวิตที่เรียกว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
เมื่อมีข่าวทางสื่อมวลชนว่า คนที่เรียนแพทย์กลายเป็นฆาตรกรที่โหดเหี้ยมที่สุด คนที่เคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดคดโกงผู้อื่น และบางคนกล่าวว่าภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากนักธุรกิจการเงิน ที่ชาญฉลาดบางคนแสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น บางคนหนีไปอยู่ต่างประเทศพร้อมความร่ำรวยส่วนตนบนความยากจนของชาติ คนฉลาดอย่างนี้หรือที่ประเทศชาติปรารถนา คงไม่ใช่อย่างแน่นอน และหลายคนก็กล่าวโทษว่าเป็นเพราะการศึกษาของเราไม่ดี เน้นสร้างคนฉลาดมากกว่าสร้างคนดี เป็นผลให้เราได้คนเก่งแต่ไม่ดี กลายเป็นคนเก่งที่เป็นพิษภัยต่อผู้อื่น
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการศึกษาต้องสร้างคนดี คือทำคนให้เป็นคนดีด้วย ไม่ใช่สร้างแต่คนเก่งอย่างเดียว ประเทศชาติต้องการทั้งคนเก่งและคนดี ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าระหว่างคนเก่งและคนดีอย่างไหนควรมาก่อนกัน
ถ้าหากให้วิเคราะห์ในระบบปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับคนเก่งมากกว่าคนดี เริ่มตั้งแต่แรกเข้าเรียนโรงเรียนมีชื่อเสียงยังคงใช้วิธีสอบคัดเลือกคนเข้าเรียน โดยอ้างเหตุว่าต้องการคนเก่งเข้าเรียนเพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน แปลว่าถ้านักเรียนไม่เก่งโรงเรียนก็ไม่มีชื่อเสียง บางคนถึงกล่าวว่าทำให้คุณภาพของโรงเรียนลดลงไปด้วย โรงเรียนมัธยมของรัฐและเอกชนจำนวนมากยังนิยมใช้วิธีสอบแข่งขันคัดเลือกคนเข้าเรียน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผมถามทุกคนเสมอว่า คนที่สอบไม่ได้ถือว่าเขาได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ และต่อไปคงต้องคิดว่าการสอบแข่งขันคัดเลือกขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในระดับอุดมศึกษาก็ให้ความสำคัญกับคนเก่ง ดังเห็นได้จากการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยมักใช้การสอบเป็นสำคัญ การพิจารณาคุณสมบัติอื่น ๆ มีน้อยมาก
เรากำลังให้ความสำคัญกับคนเก่งทางความรู้มากเกินไปหรือเปล่า เรากำลังละเลยความเป็นคนดีหรือเปล่า หรือเราคิดว่าถ้าคนเก่งแล้วก็จะเป็นคนดีได้โดยอัตโนมัติ จึงไม่ต้องให้ความสำคัญกับการเป็นคนดี ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ไม่ถูกต้อง ดังปัญหาที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น จริง ๆ แล้วระบบการศึกษา ควรต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนให้เป็นคนดีไม่น้อยกว่าการสร้างคนเก่ง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 23 กล่าวว่า การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา…. นั่นคือทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป มาตรา 23 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดการศึกษา ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด…. เมื่อเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ทุกคนได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ตัดโอกาสเพราะสอบไม่ได้ ไม่เก่ง ไม่มีความรู้พอ
การสร้างคุณธรรมก็คือ การสร้างให้คนเป็นคนดีนั่นเอง การสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดีต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอบรมหรือคือส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าถ้าจะพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม ก็ต้องให้เรียนวิชาที่ว่าด้วยศีลธรรม จริยธรรม ตามหลักของศาสนามาก ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การสร้างคุณธรรมคงไม่สามารถแยกสร้างได้ต่างหากจากการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ คุณธรรมความเป็นคนดี เป็นคุณลักษณะทางจิตใจที่แสดงออกมาผ่านการประพฤติปฏิบัติ การตัดสินใจทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง บนพื้นฐานความเชื่อที่เป็นค่านิยมทางคุณธรรมนั้น ๆ คือพฤติกรรมของคนที่ปรากฏจะส่อแสดงให้เห็นถึงความคิดความเชื่อเชิงคุณธรรม และจะบ่งบอกได้ว่าเป็นพฤติกรรมของคนดีหรือคนไม่ดี พฤติกรรมเหล่านี้ที่สำคัญเช่น ความเป็นคนรู้จักหน้าที่ รับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ความเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต รู้จักเสียสละ อดทน ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
กระบวนการเรียนรู้สามารถพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้โดยไม่ต้องมีวิชาคุณธรรมให้เรียนเป็นพิเศษ เพราะคุณธรรมที่พึงประสงค์สามารถสร้างให้เกิดได้ ผ่านกระบวนการปฏิบัติงาน ทั้งงานส่วนบุคคลและการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การเรียนรู้ที่ดีจึงควรเป็นการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น แสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทดลองทำงาน ฝึกทดลองด้วยตนเอง ร่วมกับผู้อื่น ศึกษาค้นคว้า และทดลองปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และข้อค้นพบระหว่างผู้เรียนด้วยกันหรือระหว่างผู้เรียนกับผู้รู้ กระบวนการเหล่านี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องสอนวิชาคุณธรรม เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เขาต้องเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความอดทน เสียสละ ความซื่อสัตย์ สุจริต ต้องรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ ถ้าเขาได้ทำมาก ๆ ก็จะสานก่อเป็นเจตคติ เป็นความเชื่อ และถ้าเขาปฏิบัติอยู่เสมอก็จะเป็นความเคยชิน เป็นสำนึกที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เสมอ ดังนั้น ที่พระราช-บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาต้องให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา จึงเป็นหลักการจัดการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดทั้งความรู้ และคุณธรรมไปพร้อม ๆ กัน
มีบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เป็นโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งที่ผมท่องขึ้นใจมาตั้งแต่เด็กสามารถเอามาอธิบายความสำคัญของคุณธรรมกับความรู้ที่จะต้องมีควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างดี นั่นคือบทที่ว่า

ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริตคือเกราะบัง ศาตรพ้อง
ปัญญาประดุจดัง อาวุธ
กุมสติต่างโล่หป้อง อาจแกล้วกลางสนาม

ขอฝากบันทึกนี้ไว้กับนักการศึกษา และเพื่อนครูทั้งหลาย อย่าได้หลงลืมใส่ใจ ให้คุณธรรมเกิดควบคู่กันไปกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของผู้เรียนและอย่าลืมว่า ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้เรียนด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น