นักเรียนและหลักสูตร
การศึกษาที่ดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ต้องยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นต้องส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนอย่างมีความสุข ให้การเรียนการสอนสอดคล้องกับความต้องการและสภาวะของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม และสอดคล้องกับธรรมชาติของการเรียนรู้
๑. จะให้กรมวิชาการร่วมกับสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา องค์กรส่วนท้องถิ่น
และชุมชนปรับหลักสูตร วิธีเรียน วิธีสอน ตลอดจนวิธีวัดผลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา ให้การเรียนการสอนเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของตัวผู้เรียน ให้คิดเป็น ทำเป็น มีความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน พึ่งตนเองได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้มีวิถีชีวิตตามระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การเรียน การสอนจะเน้นกระบวนการเรียนรู้จากการทำจริงให้มาก เป็นไปตามธรรมชาติไม่จำเป็นต้องเร่งรัด ไม่สอนแบบ "ยัดทะนาน" แต่จะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากรู้อยากเห็นอยากเรียน นักเรียนจะเรียนอย่างมีความสุข
๒. จะให้กรมวิชาการกระจายอำนาจส่วนใหญ่ในการจัดทำหลักสูตร การประเมินผลการเรียนการสอนให้ท้องถิ่นสถานศึกษาและชุมชน ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองความต้องการ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของผู้เรียนและชุมชนเอง
๓. จะส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชน เชื้อชาติ และประเทศชาติ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยส่งเสริมให้มีแหล่งความรู้ที่ดี สำหรับที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เช่น ห้องสมุด หอไตร พิพิธภัณฑ์ การส่งเสริมนี้รวมถึงการให้มีบุคลากร เช่น บรรณารักษ์ที่ดี ให้มีวัสดุอุปกรณ์ เช่น หนังสื่อที่ดี ที่เหมาะสม ทันเหตุการณ์ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบอินเตอร์เนต มีการจัดให้บริการที่ใช้ง่าย สะดวก
๔. จะส่งเสริมให้สถานศึกษา และสถาบันทางศาสนาพัฒนาอาคารสถานที่ ให้สะอาด สงบ ร่มรื่นมีบรรยากาศเป็นกันเอง สะดวกต่อการเข้าไปใช้ เพราะการมีบรรยากาศที่ดี ร่มรื่น แจ่มใสนั้น เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และจะช่วยจูงใจให้คนเข้าไปใช้ ทำให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ มีจิตใจละเอียดอ่อน เกิดการเรียนรู้ดียิ่งขึ้น
๕. จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาและสถาบันการศึกษาประเภทเทคนิคได้เรียนรู้ เข้าใจและสามารถปฏิบัติจริงในวิชาชีพที่เรียนเป็นประการสำคัญ สำหรับวิชาสามัญให้ถือเป็นองค์ประกอบของวิชาชีพนั้นๆ มิให้การศึกษาวิชาสามัญเป็นอุปสรรคทำลายจุดมุ่งหมายหลักของผู้เรียนที่มุ่งศึกษาวิชาชีพ เช่น นักศึกษาสาขาเกษตรกรรม จะต้องเรียนรู้ เข้าใจเกี่ยวกับการเกษตร ต้องได้รับการส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ มีความสามารถปฏิบัติจริง ได้ทำจริงเต็มตามหลักสูตร การเกษตรที่วางไว้มิใช่ต้องเรียนวิชาสามัญจนไม่มีเวลาทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ให้ผู้เรียนได้เห็นมรรคผลว่าการเกษตรที่ตนเรียนนั้นมีประโยชน์เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทำประโยชน์ให้สังคม และประเทศชาติได้
๖. จะส่งเสริมโครงการคุรุทายาท ให้ได้รับการปฏิบัติจริงจัง ตั้งแต่การคัดเลือกคนดี คนเก่ง มีศักยภาพที่จะเป็นครูที่ดี ได้มีโอกาสรับทุนเข้าเรียนเป็นนักเรียนฝึกหัดครู มีระบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวิชาชีพที่จะไปเป็นครู มีระบบการฝึกอบรมที่เข้มข้น กำหนดให้นักศึกษาตามโครงการนี้จะต้องเป็นนักศึกษาประเภทอยู่ประจำ ครู - อาจารย์จะได้ดูแลอบรมบ่มนิสัยความเป็นครูให้ได้อย่างเข้มข้น และเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องได้รับการบรรจุตามที่ได้ตกลงกันไว้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องการให้ได้คนดี คนเก่งเป็นครู มุ่งจูงใจให้นักเรียนดี นักเรียนเก่งสนใจสมัครเรียนครู มุ่งเน้นให้มีการอบรมและคัดเลือกผู้ที่จะเป็นครูแบบเข้มข้น โดยจะดำเนินการโครงการคุรุทายาทแบบสมบูรณ์แบบให้ได้ในปีการศึกษา ๒๕๔๓
๗. จะส่งเสริมดูแลให้มีการจัดโครงการเกษตรเพื่อชีวิตในวิทยาลัยเกษตรกรรมทุกแห่ง ให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติได้จริง ได้ผล ให้มีรายได้ระหว่างเรียนและให้สามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนได้ ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้
๘. ในโรงเรียนประถมศึกษาให้จัดให้มีการทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ไม้ผล และมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการส่งเสริมหลักสูตรให้สามารถเสริมโครงการอาหารกลางวันได้จะได้ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของครอบครัว
ในโรงเรียนมัธยมศึกษา วิชาการงานสำหรับมัธยมศึกษาตอนต้น และวิชาพื้นฐานอาชีพสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะจัดให้มีโครงการเพิ่มสำหรับผู้ที่เรียนแผนการเรียนเกษตรกรรม โดยเน้นการปฏิบัติจริงเป็นพิเศษ ให้ปลูกพืชผัก พืชผล ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้นและเลี้ยงสัตว์ จนสามารถช่วยครอบครัวได้ ช่วยโครงการอาหารกลางวันได้ และอาจจำหน่ายได้บ้าง สำหรับนักเรียนในแผนอื่นก็เสนอให้มีโอกาสทำกิจกรรมด้านการเกษตรเช่นเดียวกันเพื่อเป็นพื้นฐานหรือเป็นอาชีพเสริมในอนาคตได้
๙. จะส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันทุกคน (ซึ่งต่อไปจะต้องหมายถึง อาหารกลางวันที่มีคุณภาพทางโภชนาการด้วย) โดยขอให้สถานศึกษา สถาบันทางศาสนา ชุมชน องค์กรเอกชนต่างๆ ช่วยกันดูแล กระทรวงศึกษาธิการจะจัดงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับโรงเรียนและชุมชนที่ไม่สามารถดูแลให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันได้ทั่วถึง สำหรับโรงเรียนที่สามารถดูแลให้นักเรียนรับประทานอาหารกลางวันได้ทั่วถึงทุกคนแล้ว จะประกาศให้สาธารณรับทราบโดยทั่วกันเป็นรายโรง
๑๐. จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดและกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ให้แพร่หลาย เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ เช่น ความอดทน ความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีระเบียบวินัย ความเป็นผู้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการพึ่งตนเอง ความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดจนความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม รวมทั้งจะส่งเสริมให้ใช้แนวคิดเรื่องเพื่อนช่วยเพื่อน ในการป้องกันการใช้สารเสพย์ติด ในแต่ละหมู่ของลูกเสือ ให้ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ปล่อยให้เพื่อนหมู่ของตน คนใดคนหนึ่งเพลี่ยงพล้ำไปใช้สารเสพย์ติดได้ ทั้งนี้จะส่งเสริมให้นำระบบเพื่อนช่วยเพื่อนอย่างเข้มข้นภายในหมู่ หมู่ละ ๘ คน ของลูกเสือ เนตรนารี ฯลฯ ไปใช้ในโครงการโรงเรียนสีขาวด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น