วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ครูและบุคลากรทางการศึกษาทำอะไร ได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา

ครูและบุคลากรทางการศึกษาทำอะไร ได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา
ดร.สงบ ลักษณะ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

บทความนี้ขอทำหน้าที่เก็บสาระผลงานการประชุมปฏิบัติการเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเมื่อ 29 เมษายน 2544 และผลความคืบหน้าของการเตรียมการที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานปฏิรูปการศึกษา มาเล่าสู่กันฟัง

ความอยากรู้ของผู้มีส่วนได้เสียกับการปฏิรูปการศึกษามีมาก แต่ข่าวสารที่ปรากฎกลับมีน้อยไม่ได้ดังใจ ผู้คนรู้แต่เพียงว่าจะมีการยุบรวมกระทรวง ทบวง กรม ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ จะลดจำนวนกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มาเหลือ 5 กรมในชื่อของสำนักงาน 5 ชื่อ และมีหน่วยงานอิสระอีก 7 หน่วยงาน และผู้คนรู้แต่เพียงว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติ 23 ฉบับเพื่อให้มีผลบังคับใช้ 20 สิงหาคม 2545 รวมถึงจะมีการปรับเปลี่ยนอัตรากำลังจัดที่ทำงานของข้าราชการกันยกใหญ่
แต่ที่ผู้คนอยากรู้ คือ เด็กและเยาวชนในวัยเรียนจะมีอะไรดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ปกครองและประชาชนจะได้อะไร ครูและบุคลากรทางการศึกษาเขาจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอะไร เขาจะต้องเริ่มทำตัวอย่างไร และเขาจะมีสุขหรือทุกข์เพิ่มขึ้นอย่างไร จากการปฏิรูปการศึกษา
สิ่งที่มีความเข้าใจขั้นต้นให้ตรงกัน คือ เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษามุ่งไปที่ความปรารถนาให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความสุข เป็นกำลังของประเทศชาติในอนาคต เราต้องการสร้างพวกเขาให้เป็นมนุษย์ปัญญา มนุษย์คุณธรรม และมนุษย์ที่ปรับตัวได้เก่งให้ก้าวทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านทางการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
ความสำเร็จของเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงในปัจจัยองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินงานไปสู่ผลที่เด็กและเยาวชน เช่น จำเป็นต้องยกเครื่องกันใหม่ในเรื่องระบบหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ วิธีการทำงานของครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องการจัดทรัพยากร การใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ
กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ของการรับประกันและคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ทั้งโดยรัฐ โดยหน่วยงานราชการ และโดยบุคลากรรวมถึงประชาชนทุกฝ่าย ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมดีงาม และมีความยั่งยืนในความต่อเนื่องเอาจริง
ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวชัดเจนว่า กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ควรคิดทีหลัง เราควรคิดตั้งต้นในผลลัพธ์ที่เราอยากได้ก่อน ตามมาด้วยการช่วยกันคิดยุทธศาสตร์หรือแนวดำเนินงานหลัก ที่จะเป็นวิถีทางนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ได้ครบ ตรง รวดเร็ว และประหยัด หลังจากนั้นค่อยย้อนกลับมาดูกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ว่ามีสิ่งใดที่เอื้อประโยชน์ มีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค และควรมีสิ่งใดเพิ่มเติม ก็ดำเนินการด้านกฎหมายได้
นี่แสดงว่ากฎหมายทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือให้เกิดความสะดวกในการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่คิดกฎหมายก่อนเป็นคัมภีร์ แล้วค่อยมาคิดวิธีทำงานให้เข้ากับกฎหมาย
ปัญหาที่คาใจครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ มีค่อนข้างมาก เช่น ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไร บทบาทหน้าที่ใหม่คืออะไร ปัจจุบันเขาต้องเตรียมตัวอย่างไร ปัญหาอุปสรรคของการทำงานในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขอย่างไร ผลการตอบแทนทั้งในด้านเงินและความเจริญเติบโตในสายงานจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
หัวใจสำคัญของความสำเร็จของการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติล้ำเลิศสมบูรณ์ อยู่ที่การส่งเสริมให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ครูจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการเรียนการสอน บทบาทใหม่ของครูมีหลายประการ เช่น
1. เปลี่ยนความคิดจาก ครูเป็นผู้สอน (Teacher -Teaching) มาเป็น ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ (Learner-Learning) เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจากการทำโครงงาน (Project – based Learning) เรียนรู้จากการทำกิจกรรมแสวงหาความรู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างสนุกสนาน (Activity – based Learning)
2. ครูต้องมีความสามารถในการออกแบบระบบการเรียนการสอนที่เน้นมาตรฐานผลการเรียนรู้ ทั้งมาตรฐานสากล (Global Literacy) เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรฐานความรู้ความสามารถในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย วัฒนธรรม คุณธรรม และมาตรฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องของท้องถิ่น ระบบการเรียนการสอนจะครอบคลุมถึงการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ การกำหนดเนื้อหาสาระ การกำหนดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การใช้สื่อการเรียนการสอน การติดตามประเมินผลการเรียนรู้ ในแนวทางของการรับประกันผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนเต็มศักยภาพ

ระบบตำแหน่งใหม่ของครู และศึกษานิเทศก์ จะมี 4 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มี 4 ระดับเหมือนกัน แต่เรียกชื่อว่า ระดับรองผู้อำนวยการ ระดับผู้อำนวยการ ระดับผู้อำนวยการชำนาญการ และระดับผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ
อัตราเงินเดือนตั้งต้นของแต่ละระดับก็กำหนดให้มากทัดเทียมวิชาชีพสาขาอื่น เพื่อจูงใจให้คนเก่งคนดีมาทำงาน และเพื่อสงวนรักษาคนเก่งคนดีให้อยู่กับงาน อุทิศตนกับงานจนลดความกังวลเรื่องฐานะเศรษฐกิจ ในบรรดาตำแหน่ง 4 ระดับที่กล่าวถึงนั้น ระดับแรกเงินเดือนตั้งต้นที่ 19,920 บาท ระดับที่สองตั้งต้นที่ 30,850 บาท ระดับที่สามตั้งต้นที่ 38,030 บาท และระดับที่สี่ตั้งต้นที่ 55,290 บาท
นอกจากเงินเดือนแล้วครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังได้รับเงินตอบแทนในรูปของเงินวิทยฐานะ หรือเงินประจำตำแหน่งด้วย นอกจากนี้ ถ้าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีผลงานดีเด่น หรือผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เช่น ครูแห่งชาติ ฯลฯ ก็จะได้รับเงินตอบแทนที่เรียกว่า “เงินวิทยพัฒน์” ด้วย
ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ที่เดิมมีข้อจำกัดในการออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการทำวิจัยหรือพัฒนางานวิชาชีพ จะได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาครู คณาจารย์และผู้บริหารหลักการสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของครู และบุคลากรทางการศึกษา คือ
1. ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการนำตนเองไปสู่การทำงานที่ได้มาตรฐาน รับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น สามารถแสวงหา คิดค้นวิธีการที่แหลมคมที่จะรับประกันความสำเร็จของการบรรลุผลที่ พึงปรารถนา สามารถแก้ปัญหาปรับปรุงกระบวนการทำงานของตนอยู่ตลอดเวลา

2. การส่งเสริมคนเก่งคนดี ระบบใหม่ของการบริหารจัดการด้านบุคคล จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพในการแสวงหาคนเก่ง คนดีเข้ามาทำงาน พิทักษ์ปกป้องส่งเสริม รักษาให้คนเก่งคนดีคงอยู่ในระบบงานมีกำลังใจมีความสุขในการทำงาน ช่วยเหลือพัฒนาผู้ด้อยความสามารถให้มีความสามารถในการทำงาน แต่ถ้าเหลือกำลังช่วยเหลือ ก็ต้องมีวิธีกำจัด ผู้ไม่พึงปรารถนาออกจากระบบได้ ในการประชุมปฏิบัติการครั้งที่แล้ว ที่ประชุมเป็นห่วงว่าครูเก่งครูดียังมีจำนวนน้อย ระบบใหม่จะต้องไปค้นหาครูเก่งครูดีให้พบ ส่งเสริมให้เติบโต เช่น ประเมินเข้าสู่ระดับตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่ต้องให้เขา ต้องมาทำเอกสารผลงานวิชาการ ให้ทุนสนับสนุนให้เขาเผยแพร่ขยายผลความเก่งความดี สู่เพื่อนครูได้สะดวกยิ่งขึ้น

3. การจัดเครื่องมีอเครื่องใช้อำนวยความสะดวกแก่ครู การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สนองความแตกต่างของผู้เรียน ในด้านความสามารถ ความสนใจ และความต้องการ จำเป็นต้องใช้สื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้และเทคโนโลยีช่วยการเรียนที่หลากหลาย ในช่วงที่ผ่านมาครูต้องรับภาระและใช้เวลามากไปกับการสร้างสื่อช่วยการเรียนการสอนด้วยตนเอง ทำให้มีเวลาน้อยลงในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้ อีกทั้งการที่สถานศึกษามีสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี อย่างสมบูรณ์แตกต่างกันมีผลทำให้มาตรฐานคุณภาพของการจัดการศึกษามีความแตกต่างกันระหว่างสถานศึกษาต่าง ๆ
ดังนั้นถ้ารัฐรับภาระสร้างความเสมอภาคระหว่างสถานศึกษาในการมีความพร้อมในด้านเครื่องมือเครื่องใช้อำนวยความ สะดวกแก่ครู ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความสำเร็จของคุณภาพการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปการศึกษาได้มากขึ้น

4. การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ การบริหารจัดการทางการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานศึกษา จำเป็นต้องสร้างวิสัยทัศน์ กระบวนการคิดตัดสินใจ กระบวนการวางแผน กระบวนการปฏิบัติงาน และเจตคติค่านิยมกันใหม่ ให้เน้นไปที่การมองเป้าหมายความสำเร็จในผลลัพธ์ที่ทุกคนต้องการและเห็นพ้องต้องกัน ร่วมกันคิดค้นวิธีการที่แหลมคม ที่จะนำไปสู่ผล พอใจกับการประเมินตรวจสอบผลการทำงาน และรับผิดชอบต่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อผลที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายที่จะมีส่วนร่วม เราอาจจะเริ่มจากการทบทวนบ่นถึงปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษา แต่เราจะต้องรีบคิดเสนอแนะทันทีว่าเราจะช่วยกันแก้ปัญหาอุปสรรคนั้น ๆ ได้อย่างไร และเราคงไม่ต้องเน้นมากนักว่าครู และบุคลากรทางการศึกษาจะได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา แต่จะไปเน้นว่าเด็กและเยาวชนควรได้อะไร และเราจะช่วยให้อะไรและทำอะไร เพื่อเด็กและเยาวชน ได้บ้าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น