วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

คนคุณภาพคือคุณภาพการศึกษา

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


ถ้าจะกล่าวถึงคุณภาพแล้ว ทุกสังคม ทุกองค์กร ทุกชุมชน ทุกคน ทุกกิจกรรม ทุกกระบวนการ และทุกระบบล้วนต้องการ “คุณภาพ” เพราะคุณภาพคือความพึงพอใจของผู้รับบริการ คุณภาพคือความอยู่รอด คุณภาพคือความก้าวหน้า คุณภาพคือตัวชี้วัด ความสำเร็จ ฯลฯ สังคมที่มีคุณภาพเป็นสังคมที่มีความกินดีอยู่ดี เอื้ออาทรและเกื้อกูลกัน มีระบบเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรมที่ดี องค์กรที่มีคุณภาพเป็นองค์กรที่มีสมาชิกหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
จุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคม องค์กร ชุมชน หรือระบบต่าง ๆ มีคุณภาพได้นั้นมักจะเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานสำคัญคือ “คนมีคุณภาพ” แทบทั้งสิ้น คนคุณภาพในที่นี้หมายถึงคนดีและเก่ง ใช้ความดีเป็นกรอบ และใช้ความเก่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้องค์กร หรือชุมชนนั้นอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้
ดังนั้นยอดปรารถนาของสังคมหรือขององค์กรปัจจุบัน จึงพุ่งตรงไปสู่การแสวงหาและพัฒนาสมาชิกให้เป็นคนคุณภาพ ปัจจัยที่จะทำให้มีคนคุณภาพได้ก็คือการศึกษา และประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นกัน โดยกำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษา มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นเครื่องมือด้วยความมุ่งมั่นและมุ่งหวังว่าจะนำไปสู่การจัดการศึกษาของชาติให้มีคุณภาพ สามารถพัฒนาคนไทยให้เป็นคนคุณภาพ คือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิตและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข หรือที่เรียกว่าเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องการให้การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้คนหรือผู้ได้รับการศึกษามีคุณภาพ นั่นเอง
มีข้อสงสัยว่า “คนคุณภาพ” มีลักษณะอย่างไร หรือคนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีคุณภาพสิ่งที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นคนคุณภาพนั้น คือเป็นคนดีและเก่ง แต่ก็ยังสงสัยต่อไปว่าเก่งอย่างไร ดีอย่างไร ถ้าจะอธิบายก็สามารถอธิบายได้หลายลักษณะ หลายมิติ ขึ้นอยู่กับ
จุดประสงค์และประสบการณ์ ในที่นี้ขออธิบายเกี่ยวกับคนคุณภาพโดยบูรณาการลักษณะ
ของคนเก่งและดีในมิติที่เรียกว่านิสัยแห่งคุณภาพ

นิสัยแห่งคุณภาพ
นิสัยหรือการประพฤติปฏิบัติเป็นประจำจนเคยชิน โดยมุ่งให้เกิดคุณภาพนั้นขอเสนอ 8
ประการดังนี้
1. รักความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งร่างกาย จิตใจ และการปฏิบัติงานเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่คุณภาพด้านอื่น ๆ มี 2 ลักษณะคือ 1) การรักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของตนเอง เช่น มีปัจจัยสี่และของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำความสะอาดร่างกาย เครื่องใช้ให้น่าสัมผัส น่าอยู่ น่าใช้ แต่งกายภูมิฐานเหมาะกับกาลเทศะอยู่เป็นนิจ เข้าลักษณะคุณนายสะอาด 2) การรักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน เช่น จัดบ้านให้สะอาด ร่มรื่น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่ สร้างความอบอุ่นในครอบครัว ขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากบ้านหรือ หยิบใช้สอยได้สถานที่ทำงาน จัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่ หยิบใช้สอยได้ง่าย อุปกรณ์ เครื่องใช้ สถานที่ สะอาดน่าอยู่ น่าใช้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ทุกอย่าง และทุกคนปฏิบัติจนเป็นนิสัย แนวปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ก็คือ กิจกรรม 5ส ในบ้านหรือกิจกรรม 5ส ในหน่วยงาน นั่นเอง

2. ปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง มีนิสัยหรือทำงานไม่ดีก็ปรับปรุงให้ดี มีนิสัยหรือทำงานดีก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพิ่มวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ถ้าเป็นการปฏิบัติงาน ก็ปรับปรุงและพัฒนาความรู้และทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีความต่อเนื่อง รักอาชีพที่สุจริตและพัฒนาวิชาชีพของตนเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอเป็นที่พึ่งขององค์กรได้ (ขาดเราเขาจะรู้สึก) ไม่สร้างภาระให้คนอื่น ถ้าเป็นครูก็ต้องเป็น “ครูอาชีพ”

3. ทำงานเป็นทีม คนแต่ละคนไม่ได้เก่งทุกเรื่อง หรือทำทุกอย่างได้ ต้องร่วมกันทำงาน
ประสานกันอย่างเป็นระบบ กำหนดและปฏิบัติหน้าที่ได้ชัดเจนถูกต้อง เปรียบเสมือนทีมฟุตบอลที่ดีความสำเร็จของทีมย่อมมาจากการสนับสนุนดี ผู้ฝึกสอนดี ผู้จัดการทีมดี ผู้เล่นดี และทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้ดี หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในลักษณะข้าเก่งคนเดียว ให้ความสำคัญและยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ให้เกียรติและปรับสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ

4. มุ่งเน้นกระบวนการ ฝึกนิสัยการทำงานที่ให้ความสำคัญกับสาระและกระบวนการ
มากกว่าการให้ความสำคัญกับรูปแบบ เพราะจะทำให้กิจการพัฒนาและมีคุณภาพ เช่น ผู้บริหาร
การศึกษา เห็นว่า ระบบบริหารคุณภาพแบบมุ่งทั้งองค์การ เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่ทันสมัย
ได้รับการประกันคุณภาพ ทั้งที่ไม่รู้ว่ากระบวนการและเจตนารมณ์ของระบบ TQM, ISO,
กิจกรรม 5ส คืออะไร อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การจัดอบรมเรื่องการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
วิทยากรที่ให้การฝึกอบรมก็บรรยายท่องตำรา หรือสั่งให้ผู้เข้าอบรมทำกิจกรรมนั้นกิจกรรมนี้
ไม่นำกระบวนการฝึกอบรมที่เน้นผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลางมาใช้ ผลที่ได้ก็คือได้ผ่านการ
ฝึกอบรมและมีใบประกาศรับรอง นำไปสะสมอ้างเป็นผลงาน โดยที่การสอนยังใช้วิธีเดิม
(อาจท่องจำหลักการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ แต่ไม่นำมาปฏิบัติ) ดังนั้นคนคุณภาพ
ต้องเป็นคนที่เน้นกระบวนการ

5. ศึกษาและฝึกอบรมอยู่เสมอ ฝึกนิสัยการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
แสวงหาแหล่งความรู้ใหม่ ๆ ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะประสบการณ์ใหม่ การได้รับการศึกษา
เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง เป็นบุคคลที่มีค่าขององค์กร การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกหน
ทุกแห่ง ทุกเวลา และทุกเพศทุกวัย เมื่อเรียนรู้แล้วสามารถนำความรู้นั้นมาสร้างองค์ความรู้ใหม่
และนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

6. สร้างความเชื่อมั่นเพื่อประกันคุณภาพ ฝึกการทำงานที่เป็นระบบ ทำอะไรต้อง
กำหนดเป็นแผน มีวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน และปฏิบัติตามแผนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายอาจกล่าว
ได้ว่าเป็นการคิดอย่างมีแผน ทำอย่างมีแผน ซึ่งตรงข้ามกับการคิดมั่ว ๆ และทำอย่างมั่ว ๆ
ถ้าเป็นครูที่มีคุณภาพ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยจัดทำแผนการสอน และการสอนตามแผน
ผู้บริหารสถานศึกษาก็ต้องใช้แผน (แผนกลยุทธ์) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ

7. การร่วมคิดร่วมทำ เปิดใจตัวเองให้กว้าง ไม่กีดขวางความปรารถนาดีของคนอื่น
ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ร่วมคิดร่วมทำ ขณะเดียวกันก็ฝึกจิตใจตนเองให้เป็นจิตสาธารณะ (ทำ
ประโยชน์ให้ส่วนรวม) และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ร่วมคิดร่วมทำ และร่วมรับ
ผิดชอบในการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ร่วมเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในหน่วยงานและนอกหน่วยงานและร่วมกิจกรรมตามบทบาทหน้าที่นั้น เป็นต้น

8. ทำให้ถูกตั้งแต่เริ่มต้น (Right the First Time) และทำให้ถูกต้องทุกครั้ง การทำ
ให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องตามแก้ปัญหาในภายหลัง เพราะถ้าเราทำอะไรไม่ถูกตั้งแต่แรก
การทำขั้นต่อไปถึงแม้จะถูกต้อง แต่ก็ถูกในสิ่งที่ผิด ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นดังที่เห็นตัวอย่าง
ของข้าราชการที่ถูกลงโทษ เพราะการทำผิดพลาดตั้งแต่แรกทั้งเรื่องเงิน เรื่องชู้สาว การก่อสร้าง
ที่ผิดจากแบบแผน ทำให้ตึกพังเสียหาย หรือเรื่องอื่น ๆ มากมาย นิสัยแห่งคุณภาพจะเกิดขึ้นได้
บุคคลนั้นต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมี
สาระบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ทุกคนมุ่งหวังว่าจะนำสู่การ
ปฏิบัติเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ขณะเดียวกันเมื่อคนไทยมีนิสัย
แห่งคุณภาพ ก็จะเป็นปัจจัยพื้นฐานและเป็นพลังของการพัฒนาด้านอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนา
การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น