ครูอาชีพ
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีคนมาหามาขอพบปลัดกระทรวงอยู่เป็นประจำ เรื่องที่มาพบมีอยู่มากมายหลายอย่าง เป็นต้นว่ามาขอให้ช่วยย้ายญาติ มิตร ลูก หลาน จากท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลให้มาอยู่ที่สะดวกสบายหน่อย ร้อยละเก้าสิบ อ้างเหตุว่าสุขภาพไม่ดี พ่อแม่แก่ชรา ห่างไกลครอบครัว ถ้าเป็นฤดูรับนักเรียนก็เป็นเรื่องขอให้ฝากเข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ ถ้าเป็นข้าราชการบางคนก็มาขอให้ช่วยเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจเรื่องการศึกษาของชาติ เช่นเรื่องหลักสูตรว่าทำไมไม่สอนเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้มาก ๆ ทำไมไม่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย ทำไมไม่สอนให้เหมือน ๆ กันทั้งประเทศ ครูสอนไม่ดี ผู้บริหารไม่รับผิดชอบ บางคนก็มาขอให้ไปสร้างโรงเรียนใหม่ อาคารใหม่ให้
มีเรื่องหนึ่งที่สะดุดใจเพราะเห็นว่ามีหลายคนพูดถึงแม้ในการประชุมสัมมนาหลายๆ ครั้ง คนก็เป็นห่วง อยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนคือ เรื่องของครู ปัญหาของครูมีตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวของครู คือครูมีหนี้สินมาก ปัญหาเรื่องความประพฤติ เพราะมีข่าวเรื่องครูกระทำอนาจารศิษย์ ครูไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ครูขาดความรู้ความสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนให้ได้ผลดีตามความคาดหวังของหลักสูตร ครูสอนไม่เป็น วัดผลไม่เป็น และครูไม่พัฒนาตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดครูในบางสาขาวิชา ครูเกินในบางสาขาวิชา ครูล้นในบางพื้นที่ และขาดครูในบางพื้นที่หลายคนสรุปให้ฟังว่าถ้าครูของเรายังมีปัญหา แล้วเราจะคาดหวังคุณภาพการศึกษาของชาติได้อย่างไร
ปัญหาของครูที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นเรื่องของจัดการเรียนการสอนของครูหรือถ้าจะใช้ภาษาให้ทันสมัยขึ้น ก็คือเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา ส่วนปัญหาเรื่องอื่นเป็นปัญหาส่วนตัว ก็ไม่ใช่ไม่มีผลกระทบ แต่มีผลกระทบโดยอ้อมเป็นเรื่องที่น่า 2 ประหลาดที่คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าครูสอนไม่เป็นครูขาดความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดความรู้ไม่เป็น ทั้งๆ ที่ครูมีอยู่ในระบบปัจจุบันกว่าร้อยละแปดสิบจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และส่วนใหญ่จบจากสถาบันฝึกหัดครู ซึ่งเป็นของรัฐ รัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลหรือว่าครูที่สถาบันเหล่านี้ผลิตออกมายังไม่ได้คุณภาพมาตรฐานดีพอ หรือเป็นเพราะครูเหล่านี้มีมาตรฐานดีแล้ว แต่ขาดการพัฒนาตนเองจนทำให้ล้าสมัย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและมีคุณภาพ
ที่จริงในระบบปัจจุบันปีหนึ่ง ๆ มีผู้จบทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จำนวนมากถึงประมาณ 40,000 คน ในขณะที่ครูใหม่ที่รับเข้าไปปีหนึ่งเพียงประมาณ 3,000 - 4,000 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของผู้จบการศึกษาเท่านั้นเอง การคัดสรรคนจำนวนน้อยจากคนกลุ่มใหญ่ ๆ เช่นนี้ น่าจะได้หัวกะทิชั้นดีมาเป็นครู และไม่ควรจะมีปัญหาใด ๆ แต่คำอธิบายจากหลาย ๆ คนก็คือ แม้ว่าจะเป็นการเลือกคนจำนวนน้อยจากกลุ่มคนจำนวนมากก็ตามในปัจจุบันคนที่มาเรียนครูมักเป็นผู้ไม่รู้จะไปเรียนอะไรดีหรือเข้าเรียนอย่างอื่นไม่ได้ต่างจากสมัยก่อนที่คนเรียนครูจำนวนมากเป็นคนเก่ง เห็นว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ จึงมาเรียนครู จึงได้คนเก่งมาเป็นครู
ในฐานะที่ผมเองเคยเป็นนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏแห่งหนึ่ง เป็นกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูใหม่ก็ได้เห็นข้อมูลพอสมควรว่าในปัจจุบันยังมีคนเก่งไม่น้อยเลยที่มาเรียนครู โดยเฉพาะคนที่มาจากชนบทมีฐานะไม่ค่อยดีนัก เพราะการเรียนที่สถาบันราชภัฏมีค่าใช้จ่ายน้อย อยู่ใกล้บ้านเหมาะสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยส่งลูกหลานไปเข้าเรียน
แล้วอะไรคือสาเหตุใหญ่ ที่ครูมีปัญหาในเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสรุปให้ผมฟังว่าต้นตอของปัญหาทั้งหลายไม่ใช่อยู่ที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่อยู่ที่ฐานะทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางสังคม แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ครูสมัยก่อนเป็นครูทั้งชีวิต คือนอกจากทำหน้าที่ให้การ 3 ศึกษาอบรมแก่ลูกศิษย์แล้วยังมีความเอื้ออาทรห่วงใย รักใคร่ผูกพัน ปรารถนาอยากให้ลูกศิษย์เติบโตก้าวหน้าเป็นคนดี มีความสุข มีความสำเร็จ ครูสมัยก่อนมีเงินเดือนไม่มาก แต่ทำหน้าที่ด้วยความรัก จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับศิษย์ แต่ครูสมัยนี้ขาดความรู้สึกผูกพันเช่นนี้ ทั้งที่มีเงินเดือนสูงกว่าเมื่อก่อนมาก
ผมเคยเขียนเรื่องที่เคยสนทนากับ พล.อ.เปรม ไว้ครั้งหนึ่งในเรื่องความสุขในชีวิตอยากขออนุญาตเอ่ยอ้างชื่อท่านไว้อีกสักครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้น ฯพณฯ พล.อ.เปรม ถามผมว่า “ปลัดรู้ไหม อาชีพครูกับครูอาชีพเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร” ในงานนิทรรศการมหกรรมการศึกษาปี 2000 มีซุ้มแสดงเรื่อง “ครูมืออาชีพ” ท่านทักว่าไม่น่าจะถูกต้อง ผมถามว่าถ้าอย่างนั้น เรียกว่า “ครูวิชาชีพ” จะได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ คือไม่ใช่ทั้ง “ครูมืออาชีพ” และ “ครูวิชาชีพ” ที่ถูกควรเป็น “ครูอาชีพ”
ท่านอธิบายต่อไปว่า “ครูอาชีพ” คือ ครูที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู คือ มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการให้การศึกษาอบรมศิษย์ในทุกๆ ด้าน มีความประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครูและปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนอาชีพครูคือคนที่มายึดอาชีพครู เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมาดำรงชีพ ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู จึงปฏิบัติหน้าที่ครูเพราะมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ไม่ใช่เพราะมีใจรักที่จะทำประเทศไทยต้องการ “ครูอาชีพ” ไม่ใช่ “อาชีพครู” ขณะนี้เรามีคนที่มีอาชีพครูมาก แต่มี “ครูอาชีพ” น้อย เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ท่านหันมาถามผมอีกครั้งหนึ่ง
ครับคำพูดของ พล.อ.เปรม ทำให้ผมต้องคิดหนัก ภาพลักษณ์ของครูที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพครู ไม่ใช่ครูอาชีพ ย่อมเป็นปัญหาใหญ่ทางการศึกษาอย่างแน่นอนและเป็นความจริงที่หลาย ๆ คนมองเห็นอยู่ และอยากเห็นว่ามีการปฏิรูป ผมเห็นว่าจิตวิญญาณของความเป็นครูน่าจะมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพราะจะ 4 เป็นตัวกำหนดให้คนรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทุ่มเทเสียสละ เพื่อคุณภาพการศึกษาของศิษย์ คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูคงไม่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางจนเป็นที่ครหานินทาของผู้อื่น เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ศิษย์ คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูคงต้องรู้จักพัฒนาตน แสวงหาความรู้ใส่ตน เพื่อว่าตนจะได้ถ่ายทอดความรู้ ความคิดและมีเทคนิคในการส่งเสริมสนับสนุนให้ศิษย์ได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูย่อมรักใคร่ห่วงใย และมีความปรารถนาดีต่อศิษย์ กล่าวได้ว่าต้นตอของการได้ครูดี ครูที่พึงประสงค์ “ครูอาชีพ” จึงน่าจะอยู่ที่จิตวิญญาณนี้ จากนั้นก็ต้องพัฒนาครูให้มีความพร้อมในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ก็จะช่วยให้เกิด “ครูอาชีพ” ขึ้นได้ไม่น้อยทีเดียว แต่สิ่งที่หลายคนยังเป็นห่วง คือ เกรงว่ามาตรฐานวิชาชีพจะให้ความสำคัญกับคุณวุฒิทางการศึกษา มากกว่ามาตรฐานจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดยาก และวัดยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
ผมชอบใจความคิดเรื่อง “ครูอาชีพ” ของ ฯพณฯ ท่านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงขอจดบันทึกเรื่องนี้ไว้ เพื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะได้นำไปพิจารณาหาทางให้บังเกิดเป็นผลสำเร็จต่อไปในวันข้างหน้า
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น