วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

การศึกษาคือปัจจัยที่ ๕ ของชีวิต




ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็ว ถ้าเปรียบเทียบกับ ประเทศอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงหลายประเทศประชากรไทย มีรายได้เฉลี่ยสูงถึงปีละ 61,335 บาท* หรือเดือนละประมาณ 5,100 บาท เป็นรายได้ ที่มากที่พอจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขพอสมควร แต่นี่เป็นเพียงค่าเฉลี่ยรวมระดับ ประเทศ ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปก็พบว่ามีอยู่ถึง 63 จังหวัด ที่ประชากรมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางนี้ และยังพบอีกว่ามีความแตกต่างระหว่างจังหวัดสูงมาก จังหวัดที่มีรายได้ สูงสุดคือสมุทรสาคร มีรายได้เฉลี่ยถึง 248,216 บาทต่อปี ส่วนจังหวัดศรีสะเกษมีรายได้ เฉลี่ยต่ำสุดเพียง 14,960 บาทต่อปี ความแตกต่างนี้สูงถึง 16.6 เท่า
เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วนี้ เป็นผลเนื่องจากการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมและบริการ ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมขยายตัวน้อยมาก รายได้ที่สูงขึ้นจึงเป็นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและบริการ และผู้บริหารระดับสูงเสียเป็น ส่วนใหญ่ และเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในเขตเมืองส่วนในชนบทนั้นไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก คนชนบทยังยากจน ต้องอาศัยการเกษตรที่มีผลตอบแทนน้อยเป็นพื้นฐานดำรงชีวิตส่วนที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นก็มุ่งเข้าเมืองหาอาชีพใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งบางคนก็ ประสบความสำเร็จบางคนก็ไม่ประสบความสำเร็จ บางคนก็ล้มเหลวนำความเศร้าโศก เสียใจมาสู่ญาติพี่น้อง
ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ มิได้หมายความถึงความเจริญรุ่งเรืองทาง เศรษฐกิจเท่านั้นและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก็มิได้ดูเพียงค่าเฉลี่ยของรายได้ประชากร เท่านั้น ความสงบของสังคมเป็นดรรชนีบ่งบอกความเจริญของประเทศเช่นเดียวกัน ประเทศจะสงบสุขร่มเย็นได้ ชีวิตคนในชาติต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำกันมาก คนรวยจะรวยล้นฟ้าเพียงใดคงไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าคนจน มีมากและมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมาก ประเทศนั้นย่อมมีปัญหา และถ้าคนจนมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ขาดแคลนทุกอย่างในขณะที่คนรวยมีความสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกอย่างปัญหาย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหา คือลดช่องว่างระหว่าง คนรวยกับคนจนนี้ให้ได้โดยเร็ว วิธีการง่ายๆก็คือหาทางขจัดความยากจนให้หมดไป ช่วย ให้คนยากไร้มีฐานะความเป็นอยู่ มีรายได้ที่สูงขึ้น มีปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตมี 4 ประการ คือ การมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม 1 การมีอาหารการกินที่เพียงพอกับความเจริญเติบโตและเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี 1 การมีเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาวะอากาศและความมีระเบียบทางวัฒนธรรม 1 และการมียาป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บยามจำเป็นอีก 1 มนุษย์ที่มีวัฒนธรรมมีความจำเป็นต้องมีปัจจัย พื้นฐาน 4 ประการนี้ แต่เราพบว่า ยังมีคนไทยนับล้านที่ขาดที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพพอควรคนจำนวนมากต้องแออัดในแหล่งเสื่อมโทรม มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หลายคนต้อง อาศัยใต้สะพานเป็นที่อยู่อาศัย บางคนเป็นคนเร่ร่อนไร้หลักแหล่ง เด็กนับล้านเป็นโรคขาด สารอาหาร ขาดภูมิคุ้มกันป้องกันโรค ขาดเสื้อผ้านุ่งห่มที่เหมาะสม
คนไทยภาคภูมิใจว่าประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าวคนไทยไม่อดตาย แต่มีคนไทยกว่าครึ่งประเทศยังอยู่ในฐานะยากจน มีคุณภาพชีวิตไม่เหมาะสม แม้ปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นก็ยังมีไม่เพียงพอ ประเทศไทยจะเจริญได้ คนไทยทั้งมวลต้องมี ส่วนร่วม โดยต้องช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความยากจนให้ได้
การช่วยคนหิวด้วยการให้อาหาร ไม่ช้าเขาก็กินอาหารนั้นหมดแล้วก็หิวต่อไป การแก้ความหิวจึงต้องแก้ด้วยการให้เครื่องมือหาอาหาร ไม่ใช่ให้อาหารความยากจนเป็นต้นเหตุของความไม่เหมาะสมเพียงพอของปัจจัยพื้นฐาน การแก้ปัญหาความยากจนของคน กว่าครึ่งประเทศจึงไม่ใช่การแจกเงินทองสิ่งของเครื่องใช้ แต่ต้องแก้ด้วยการให้ความรู้ ความสามารถที่จะไปประกอบงานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิตที่เหมาะสม
การศึกษา คือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะนิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพได้ การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม การศึกษาจึงเป็นความจำเป็นของชีวิตอีกประการหนึ่ง นอกเหนือจากความจำเป็น ด้านที่อยู่อาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค การศึกษาจึงเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต เป็นปัจจัยที่จะช่วยแก้ปัญหาทุก ๆ ด้านของชีวิตและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตในโลกที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่าง รวดเร็ว และส่งผลกระทบให้วิถีดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกันการศึกษายิ่งมีบทบาทและความจำเป็นมากขึ้นด้วย การศึกษาที่จะช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดี มีความสุข จะต้องมีลักษณะ ที่สำคัญดังนี้
1. เป็นการศึกษาที่ให้ความรู้ และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เช่น ความรู้และทักษะทางด้านภาษา การคิดคำนวณ ความเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น สภาพปัจจุบันมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้ทุกคนได้รับการศึกษาขั้น พื้นฐานอย่างน้อย 12 ปี จึงจะเพียงพอกับความต้องการและความจำเป็นที่จะยกระดับ คุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
2. การศึกษาทำให้คนเป็นคนฉลาด เป็นคนมีเหตุผล คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และ รู้จักวิธีแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และเพื่อการงานอาชีพ
3. การศึกษาต้องสร้างนิสัยที่ดีงาม ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนโดยเฉพาะนิสัยรักการ เรียนรู้ และนิสัยอื่น ๆ เช่นความเป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รับผิดชอบ เป็นต้น
4. การศึกษาต้องสร้างความงอกงามทางร่างกาย มีสุขภาพพลามัยที่ดี รู้จัก รักษาตนให้แข็งแรง ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ และสารพิษ
5. การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว เห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนรวมให้ความร่วมมือกับผู้อื่นในสังคม อยู่รวมกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสร้างสังคมที่สงบเป็นสุข รักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
6. การศึกษาต้องทำให้คนมีทักษะการงานอาชีพที่เพียงพอกับการเข้าสู่การงานอาชีพ รู้จักการประกอบอาชีพและรู้จักพัฒนาการงานอาชีพ
ทั้ง 6 ประการเป็นพื้นฐานทางการศึกษาที่จำเป็น ที่คนจะต้องได้รับรู้อย่างทั่วถึงทุกคน ถ้าทุกคนได้รับอย่างครบถ้วน เพียงพอก็จะทำให้เกิดทักษะลักษณะและนิสัยที่พึงประสงค์ได้ การศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นเพียงสำหรับคนบางคน แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่ขาดความพร้อมในปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีความ จำเป็นมากที่สุด
คนที่ขาดความพร้อมต้องการการศึกษามาก มักเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมตลอดเวลา การศึกษาที่ได้รับก็มักเป็นบริการที่กระท่อนกระแท่น ไม่เพียงพอกับการเรียนรู้ที่เหมาะสม ไม่พอแม้เพียงเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ตรงข้ามกับผู้ที่มีความพร้อมพอจะช่วยตนเองได้ กลับได้รับบริการที่มีคุณภาพและปริมาณที่ดีกว่ามาก ดังจะเห็นได้จากสถานศึกษาในเมืองกับในชนบท ที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ การศึกษานอกจาก จะไม่สามารถสร้างความพร้อมที่เพียงพอกับผู้ต้องการแล้ว ยังส่งเสริมให้ช่องว่างระหว่าง คนรวยกับคนจนแตกต่างกันมากขึ้นด้วย
เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์การศึกษาเสียใหม่ให้หันมาให้ความสำคัญกับคนยากจนคนเสียเปรียบ และคนด้อยโอกาสให้มากขึ้นทรัพยากรของรัฐต้องนำมาใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงบริการการศึกษา สำหรับคนยากจนให้ดีขึ้นเป็นพิเศษ ให้เพียงพอกับการสร้างลักษณะสิสัยและความพร้อมที่จำเป็น ถ้าคนยากจน คนเสียเปรียบ คนด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และมีคุณภาพ แล้ว ปัญหาต่าง ๆ ในบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงไปโดยปริยายและยังทำให้เขากลายเป็นกำลัง สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีด้วย
การศึกษานอกจากเป็นปัจจัยที่ 5 แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัย
เพื่อความรุ่งเรืองของประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย เราจงฝากความหวังของชาติ
ด้วยการพัฒนาการศึกษากันเถิด


คนคุณภาพคือคุณภาพการศึกษา

ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


ถ้าจะกล่าวถึงคุณภาพแล้ว ทุกสังคม ทุกองค์กร ทุกชุมชน ทุกคน ทุกกิจกรรม ทุกกระบวนการ และทุกระบบล้วนต้องการ “คุณภาพ” เพราะคุณภาพคือความพึงพอใจของผู้รับบริการ คุณภาพคือความอยู่รอด คุณภาพคือความก้าวหน้า คุณภาพคือตัวชี้วัด ความสำเร็จ ฯลฯ สังคมที่มีคุณภาพเป็นสังคมที่มีความกินดีอยู่ดี เอื้ออาทรและเกื้อกูลกัน มีระบบเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรมที่ดี องค์กรที่มีคุณภาพเป็นองค์กรที่มีสมาชิกหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
จุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคม องค์กร ชุมชน หรือระบบต่าง ๆ มีคุณภาพได้นั้นมักจะเริ่มจากปัจจัยพื้นฐานสำคัญคือ “คนมีคุณภาพ” แทบทั้งสิ้น คนคุณภาพในที่นี้หมายถึงคนดีและเก่ง ใช้ความดีเป็นกรอบ และใช้ความเก่งเป็นพลังขับเคลื่อนให้องค์กร หรือชุมชนนั้นอยู่รอดและพัฒนาต่อไปได้
ดังนั้นยอดปรารถนาของสังคมหรือขององค์กรปัจจุบัน จึงพุ่งตรงไปสู่การแสวงหาและพัฒนาสมาชิกให้เป็นคนคุณภาพ ปัจจัยที่จะทำให้มีคนคุณภาพได้ก็คือการศึกษา และประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นกัน โดยกำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษา มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นเครื่องมือด้วยความมุ่งมั่นและมุ่งหวังว่าจะนำไปสู่การจัดการศึกษาของชาติให้มีคุณภาพ สามารถพัฒนาคนไทยให้เป็นคนคุณภาพ คือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิตและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข หรือที่เรียกว่าเป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข กล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องการให้การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้คนหรือผู้ได้รับการศึกษามีคุณภาพ นั่นเอง
มีข้อสงสัยว่า “คนคุณภาพ” มีลักษณะอย่างไร หรือคนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีคุณภาพสิ่งที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นคนคุณภาพนั้น คือเป็นคนดีและเก่ง แต่ก็ยังสงสัยต่อไปว่าเก่งอย่างไร ดีอย่างไร ถ้าจะอธิบายก็สามารถอธิบายได้หลายลักษณะ หลายมิติ ขึ้นอยู่กับ
จุดประสงค์และประสบการณ์ ในที่นี้ขออธิบายเกี่ยวกับคนคุณภาพโดยบูรณาการลักษณะ
ของคนเก่งและดีในมิติที่เรียกว่านิสัยแห่งคุณภาพ

นิสัยแห่งคุณภาพ
นิสัยหรือการประพฤติปฏิบัติเป็นประจำจนเคยชิน โดยมุ่งให้เกิดคุณภาพนั้นขอเสนอ 8
ประการดังนี้
1. รักความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งร่างกาย จิตใจ และการปฏิบัติงานเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่คุณภาพด้านอื่น ๆ มี 2 ลักษณะคือ 1) การรักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของตนเอง เช่น มีปัจจัยสี่และของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขจัดหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำความสะอาดร่างกาย เครื่องใช้ให้น่าสัมผัส น่าอยู่ น่าใช้ แต่งกายภูมิฐานเหมาะกับกาลเทศะอยู่เป็นนิจ เข้าลักษณะคุณนายสะอาด 2) การรักษาความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน เช่น จัดบ้านให้สะอาด ร่มรื่น มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าอยู่ สร้างความอบอุ่นในครอบครัว ขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากบ้านหรือ หยิบใช้สอยได้สถานที่ทำงาน จัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่ หยิบใช้สอยได้ง่าย อุปกรณ์ เครื่องใช้ สถานที่ สะอาดน่าอยู่ น่าใช้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ทุกอย่าง และทุกคนปฏิบัติจนเป็นนิสัย แนวปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ ก็คือ กิจกรรม 5ส ในบ้านหรือกิจกรรม 5ส ในหน่วยงาน นั่นเอง

2. ปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง มีนิสัยหรือทำงานไม่ดีก็ปรับปรุงให้ดี มีนิสัยหรือทำงานดีก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพิ่มวุฒิภาวะทางอารมณ์ (EQ) ถ้าเป็นการปฏิบัติงาน ก็ปรับปรุงและพัฒนาความรู้และทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีความต่อเนื่อง รักอาชีพที่สุจริตและพัฒนาวิชาชีพของตนเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอเป็นที่พึ่งขององค์กรได้ (ขาดเราเขาจะรู้สึก) ไม่สร้างภาระให้คนอื่น ถ้าเป็นครูก็ต้องเป็น “ครูอาชีพ”

3. ทำงานเป็นทีม คนแต่ละคนไม่ได้เก่งทุกเรื่อง หรือทำทุกอย่างได้ ต้องร่วมกันทำงาน
ประสานกันอย่างเป็นระบบ กำหนดและปฏิบัติหน้าที่ได้ชัดเจนถูกต้อง เปรียบเสมือนทีมฟุตบอลที่ดีความสำเร็จของทีมย่อมมาจากการสนับสนุนดี ผู้ฝึกสอนดี ผู้จัดการทีมดี ผู้เล่นดี และทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้ดี หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในลักษณะข้าเก่งคนเดียว ให้ความสำคัญและยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ให้เกียรติและปรับสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ

4. มุ่งเน้นกระบวนการ ฝึกนิสัยการทำงานที่ให้ความสำคัญกับสาระและกระบวนการ
มากกว่าการให้ความสำคัญกับรูปแบบ เพราะจะทำให้กิจการพัฒนาและมีคุณภาพ เช่น ผู้บริหาร
การศึกษา เห็นว่า ระบบบริหารคุณภาพแบบมุ่งทั้งองค์การ เพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นองค์กรที่ทันสมัย
ได้รับการประกันคุณภาพ ทั้งที่ไม่รู้ว่ากระบวนการและเจตนารมณ์ของระบบ TQM, ISO,
กิจกรรม 5ส คืออะไร อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การจัดอบรมเรื่องการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
วิทยากรที่ให้การฝึกอบรมก็บรรยายท่องตำรา หรือสั่งให้ผู้เข้าอบรมทำกิจกรรมนั้นกิจกรรมนี้
ไม่นำกระบวนการฝึกอบรมที่เน้นผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลางมาใช้ ผลที่ได้ก็คือได้ผ่านการ
ฝึกอบรมและมีใบประกาศรับรอง นำไปสะสมอ้างเป็นผลงาน โดยที่การสอนยังใช้วิธีเดิม
(อาจท่องจำหลักการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ แต่ไม่นำมาปฏิบัติ) ดังนั้นคนคุณภาพ
ต้องเป็นคนที่เน้นกระบวนการ

5. ศึกษาและฝึกอบรมอยู่เสมอ ฝึกนิสัยการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
แสวงหาแหล่งความรู้ใหม่ ๆ ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะประสบการณ์ใหม่ การได้รับการศึกษา
เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง เป็นบุคคลที่มีค่าขององค์กร การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกหน
ทุกแห่ง ทุกเวลา และทุกเพศทุกวัย เมื่อเรียนรู้แล้วสามารถนำความรู้นั้นมาสร้างองค์ความรู้ใหม่
และนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

6. สร้างความเชื่อมั่นเพื่อประกันคุณภาพ ฝึกการทำงานที่เป็นระบบ ทำอะไรต้อง
กำหนดเป็นแผน มีวิธีการปฏิบัติที่ชัดเจน และปฏิบัติตามแผนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายอาจกล่าว
ได้ว่าเป็นการคิดอย่างมีแผน ทำอย่างมีแผน ซึ่งตรงข้ามกับการคิดมั่ว ๆ และทำอย่างมั่ว ๆ
ถ้าเป็นครูที่มีคุณภาพ จะต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยจัดทำแผนการสอน และการสอนตามแผน
ผู้บริหารสถานศึกษาก็ต้องใช้แผน (แผนกลยุทธ์) เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ

7. การร่วมคิดร่วมทำ เปิดใจตัวเองให้กว้าง ไม่กีดขวางความปรารถนาดีของคนอื่น
ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ร่วมคิดร่วมทำ ขณะเดียวกันก็ฝึกจิตใจตนเองให้เป็นจิตสาธารณะ (ทำ
ประโยชน์ให้ส่วนรวม) และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง ร่วมคิดร่วมทำ และร่วมรับ
ผิดชอบในการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น ร่วมเป็นคณะกรรมการต่างๆ ในหน่วยงานและนอกหน่วยงานและร่วมกิจกรรมตามบทบาทหน้าที่นั้น เป็นต้น

8. ทำให้ถูกตั้งแต่เริ่มต้น (Right the First Time) และทำให้ถูกต้องทุกครั้ง การทำ
ให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ต้องตามแก้ปัญหาในภายหลัง เพราะถ้าเราทำอะไรไม่ถูกตั้งแต่แรก
การทำขั้นต่อไปถึงแม้จะถูกต้อง แต่ก็ถูกในสิ่งที่ผิด ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นดังที่เห็นตัวอย่าง
ของข้าราชการที่ถูกลงโทษ เพราะการทำผิดพลาดตั้งแต่แรกทั้งเรื่องเงิน เรื่องชู้สาว การก่อสร้าง
ที่ผิดจากแบบแผน ทำให้ตึกพังเสียหาย หรือเรื่องอื่น ๆ มากมาย นิสัยแห่งคุณภาพจะเกิดขึ้นได้
บุคคลนั้นต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมี
สาระบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ทุกคนมุ่งหวังว่าจะนำสู่การ
ปฏิบัติเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา ขณะเดียวกันเมื่อคนไทยมีนิสัย
แห่งคุณภาพ ก็จะเป็นปัจจัยพื้นฐานและเป็นพลังของการพัฒนาด้านอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนา
การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วย


การประเมินคุณภาพการศึกษา



ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ


การประเมินคุณภาพการศึกษาด้านความถนัดทางการเรียน (SAT)หรือการสร้างแบบทดสอบ SAT เป็นโครงการที่ผู้เขียนริเริ่มแนวความคิดมาตั้งแต่ปี 2536 ขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรม วิชาการและได้รับการสานต่อจนเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน แม้ว่าพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติไม่ได้กล่าวถึงแบบทดสอบ SAT โดยตรง แต่แบบทดสอบนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ในเรื่องการประเมินมาตรฐานการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษาในบริบทของการจัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจ กรมวิชาการได้ใช้เวลาศึกษาและพัฒนาแบบทดสอบ SAT มาเป็นเวลานานพอสมควร ในรูปของฐานข้อมูลคลังข้อสอบที่มีจำนวนข้อสอบหลายพันข้อ และได้นำไปทดลองใช้ในภาคสนามและวิเคราะห์ผลการทดลอง พร้อมหาค่าความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่น (Validity and Reliability) ของแบบทดสอบ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจพร้อมที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์จริง และที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสอบในปลายปีการศึกษา 2543 หรือประมาณต้นปี 2544 โดยถือว่าเป็นโครงการระดับกระทรวงศึกษาธิการ ที่กรมวิชาการ กรมต้นสังกัด และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมดำเนินการ
แนวคิดเรื่องการวัดความถนัดทางการเรียนหรือ SAT นี้ ประเทศต่างๆ ในโลกโดยเฉพาะประเทศตะวันตกที่จัดการศึกษาแบบกระจายอำนาจ แบบทดสอบความถนัดทางการเรียนจะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาที่สำคัญมาก เมื่อกล่าวเราพูดถึงการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ถ้ามัธยมศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อปวงชน และคนทุกคนเรียนมัธยมศึกษาอย่างกว้างขวาง รุ่นหนึ่งๆ ก็จะต้องมีคนเรียนมัธยมศึกษาประมาณ 1 ล้านคน หรือใกล้ๆ ล้านคนเป็นอย่างน้อย แล้วโปรแกรมการเรียนก็คงจะหลากหลายแตกต่างกันไป ตามความถนัดตามพื้นฐานของแต่ละคน และตามความสนใจของแต่ละคนที่แตกต่างกันตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคนและแต่ละชุมชน เมื่อมีความแตกต่างกัน หลักสูตรของมัธยมศึกษาก็จะต้องยืดหยุ่นและกว้างขวาง กระบวนการเรียน กระบวนการวัดผลประเมินผลต่างๆ ก็จะยืดหยุ่นและก่อให้เกิดความหลากหลาย ได้เคยมีการเรียกร้องว่า ควรจะมีการทำข้อสอบกลาง เพราะเห็นว่าผลการเรียนคือ GPA ของนักเรียนแต่ละคน ไม่สามารถจะเทียบกันได้ โรงเรียนของแต่ละคนก็มีวิธีการให้เกรดหรือการตัดสินผลการเรียนที่แตกต่างกัน ทำให้นำผลการเรียนมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ทบวงมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถเอาไปใช้ประกอบการคัดเลือกได้เพราะความหลากหลายของมาตรฐานและวิธีการวัดและประเมินผลของแต่ละโรงเรียน และได้ตั้งเงื่อนไขว่าเมื่อใดกระทรวงศึกษาธิการสามารถแสดงให้เห็นว่ามีวิธีนำผลการเรียนมาเทียบกันได้ จะนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ผลการเรียนเปรียบเทียบกันได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ และไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถจะทำได้อย่างนั้นได้ มีวิธีเดียวที่เราสามารถจะเทียบกันได้ คือการวัดความสามารถของผู้เรียนที่ไม่ใช่วัดความรู้ด้านเนื้อหาสาระเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวัดสิ่งที่อยู่ในตัวผู้เรียน อันเป็นผลเกิดจากการสะสมของกระบวนการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มเข้าสู่โรงเรียนและสังเคราะห์สะสมกันเรื่อยๆมา ดร.ชอบ ลีซอ ใช้คำว่าเป็นการตกผลึกของความรู้ คือ ความรู้ความสามารถที่สะสมไว้ในตัวผู้เรียน หรือที่นักจิตวิทยาทางเชาว์ปัญญาเรียกว่า Crystalized Ability ซึ่งไม่ใช่ตัวความรู้โดยตรง แต่เป็นคุณสมบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้สามารถแสดงออกได้ และเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถของคนได้ เรียกว่า Aptitude ภาษาไทยแปลว่าความถนัด ที่จริงไม่ใช่ความถนัดโดยตรงแต่เป็นสิ่งที่สังเคราะห์สะสมจากการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้ามีเครื่องมือวัดความสามารถอย่างนี้แล้ว คนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เรียนเนื้อหาสาระที่แตกต่างกัน ผลของการสะสมสังเคราะห์ของความรู้หรือความสามารถที่ตกผลึกควรที่จะสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างสมเหตุสมผล ใครมีความสามารถที่ได้รับการพัฒนามาก การสอบด้วยแบบทดสอบ SAT จะได้คะแนนสูง ถ้ามี SAT ที่ใช้ได้ทั้งประเทศ ก็จะสามารถวัดเด็กทุกคนในประเทศและนำผลมาเทียบกันได้ว่ามีใครมีความเด่น มีความด้อย ความถนัด ความสามารถแตกต่างกันอย่างไร สามารถนำไปใช้เป็นตัวบ่งชี้ในการพิจารณาในเรื่องต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมากมาย เช่น ใช้ในกระบวนการแนะแนว การเลือกอาชีพ การส่งเสริมการเรียน เป็นต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ใช้ SAT มาเป็นเวลาหลายสิบปี และทำมาต่อเนื่องโดยตลอด โดยมีองค์กรอิสระคือ Educational Testing Service หรือ ETSเป็นผู้จัดสร้างและนำไปใช้เป็นเครื่องมือทดสอบ การทดสอบนี้เป็นการสมัครใจ แต่ละคนต้องไปสมัครสอบ ทาง ETS จะรายงานผลการสอบให้เป็นรายบุคคลแล้วมหาวิทยาลัยในสหรัฐเกือบทั้งหมด จะใช้ผลการสอบ SAT ประกอบการพิจารณาโดยไม่มีการบังคับใครจะสมัครเข้าเรียนก็จะขอดูคะแนน SAT ใช้เป็นเกณฑ์ที่สำคัญ และมีการศึกษาวิจัยพบว่าคะแนน SATเมื่อไปศึกษาหาความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษาแล้ว พบว่ามีความสัมพันธ์กันสูงมากสูงไม่น้อยไปกว่าดูความสัมพันธ์ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษา คือ GPA เมื่อเทียบกับความสำเร็จในระดับอุดมศึกษา แต่ปัญหา GPAคือเทียบกันไม่ได้ในระหว่างโรงเรียน แต่ SAT มันเทียบกันได้ระหว่างโรงเรียนและระหว่างคนแต่ละคนที่สมัครเข้าไป
ในออสเตรเลีย มีการทดสอบเรียกว่า AST หรือAustralian Scaling Test ซึ่งเป็นแบบ วัดความถนัดทางการเรียนคล้ายกับ SAT และมีระบบการสอบคล้ายๆ กันคือมีหน่วยงานกลางเรียกว่า Board of Senior SecondaryStudies เป็นหน่วยจัดสร้างข้อสอบประเภทนี้โดยไม่บังคับว่าให้ใครมาสอบ แต่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียก็จะขอดูคะแนนผลการสอบนี้ การประกาศผลสอบเขาจะใช้วิธีการพิมพ์โดยคอมพิวเตอร์แจกไปแต่ละคน เมื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหน่วยงานที่จัดสอบจะ รายงานผลการสอบในคอมพิวเตอร์ส่งไปให้มหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ละคณะจะมีเกณฑ์พิจารณาคะแนน SATว่าอย่างน้อยต้องอยู่ในระดับใด จึงจะมารับพิจารณา ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามระดับความมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งการสอบมาตรฐานแบบนี้ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียจะทำกันอย่างกว้างขวาง แม้ว่าระบบของออสเตรเลียจะต่างจากสหรัฐ แต่ก็ใช้ในลักษณะคล้ายกัน คือ คัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ในประเทศอังกฤษใช้แบบสอบอีกแบบหนึ่งโดยใช้อายุของผู้เรียนเป็นเกณฑ์ คนที่อยู่อายุเดียวกันจัดอยู่กลุ่มเดียวกันมีแบบทดสอบมาตรฐานกลางซึ่งมีองค์กรหลายแห่งจัดทำส่วนมากเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ เช่น Oxford Cambridgeสถาบันอุดมศึกษาจะรับเข้าศึกษาต่อก็จะขอดู แล้วบอกว่าเป็น O – level หรือ A – level คือ ระดับคะแนนสูง O – level เป็นระดับคะแนนปานกลางถ้าจะไปเรียนคณะนี้จะต้องได้ A – level กี่วิชา O – level กี่วิชา
ประเทศไทยล้าหลังมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เหล่านี้ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยจะใช้การสอบวัด Achievement test วัดการเรียนรู้ตามเนื้อหาสาระของวิชาเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้นำผลของการสะสมที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ไปใช้เป็นประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีระบบ SATมาใช้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อเปรียบเทียบหรือใช้ประโยชน์ในการแนะแนวหรือการคัดเลือกคนเข้าสู่ระบบในเรื่องต่างๆ เจตนาลึกๆ คิดว่าทำอย่างไร เราจะเปลี่ยนระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ในขณะที่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยเห็นด้วยในการใช้ GPA และ SAT จะเป็นตัวเลือก จึงได้คิดพัฒนาระบบ SAT ขึ้นในประเทศไทย โดยกรมวิชาการได้เชิญ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวัดผลประเมินผลทางการศึกษาและทางจิตวิทยา จากสถาบันและหน่วยงานทางการศึกษา ต่างๆ ในประเทศไทย มาช่วยกันคิดวางแผนและได้ช่วยกันสร้างข้อสอบประมาณ 2 ปี จึงออกมาเป็นข้อสอบแบบ SAT
โดยทั่วไป SAT มีหลายรูปแบบส่วนที่สำคัญที่คิดว่าสามารถจะเป็นตัวแทนของการเรียนรู้ การสะสมของการเรียนรู้ได้ทั้งหมดและเป็นตัวแทนได้อย่างดีมี 3 เรื่องเรื่องแรกคือความสามารถทางภาษา หรือ Verbal Ability เป็นการวัดการสะสมความสามารถ ความถนัดต่างๆ ทางด้านภาษา นักจิตวิทยาได้วิจัยแล้วพบว่า Verbal ไปสัมพันธ์กับ ความสำเร็จทางการเรียนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เรื่องที่สองคือความสามารถทางการคิดคำนวณ หรือ Numerical Ability คือเรื่องของการคำนวณตัวเลขต่างๆ ซึ่งเป็นการคิดคำนวณเบื้องต้นง่ายๆ แต่ว่าจากการเรียนรู้นี้เป็นผลจากการสะสมการคิดคำนวณ คนโบราณอาจไม่รู้ว่า บวก ลบ คูณ หาร เป็นอย่างไร แต่ด้วยทักษะสามารถคิดตัวเลข คิดอะไรต่างๆออกมาได้ แบบนี้คือทักษะแบบ Numerical ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ทักษะแบบนี้เป็นตัวแทนของการสะสมความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ทางด้านวิทยาศาสตร์ การประยุกต์คณิต – วิทย์ไปใช้ในการเรียน ผลการทดสอบของ Numerical จะเป็น ตัวแทนความสามารถทางด้านนี้เป็นอย่างดี เพราะจะมีความสัมพันธ์สูงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อีกด้านหนึ่งของแบบทดสอบความถนัดทางการเรียน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่คิดว่าสำคัญ เรียกว่าทางด้าน Analytical Ability หรือความสามารถเชิงวิเคราะห์ ก็คือทางด้านคิดหาเหตุผล การหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่ให้เห็นความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ ในลักษณะเฉพาะหน้า ความสามารถเชิงวิเคราะห์นี้สัมพันธ์กับทางด้าน Numerical ทางด้าน Verbal เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ความสามารถทางการคิดคำนวณกับความสามารถทางด้านภาษา เข้าด้วยกัน ถ้าใครมี Analytical ผสมกับ Verbal ก็จะประสบความสำเร็จทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือด้าน Analytical ไปสัมพันธ์กับทางด้าน Numerical ด้วย ความสำเร็จทางด้าน คณิต – วิทย์ ยิ่งจะสูงมาก หรือถ้า มีความสามารถทั้ง 3 ด้าน ได้คะแนนเหมือนกันหมด แสดงว่าคนนี้จะไปเรียนทางด้านไหนก็ได้ จะประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็จะเก่งด้านภาษา ด้านเหตุผล จึงเห็นว่าความถนัดทางการเรียนมีความหมายมาก เพราะจะเป็นตัวแทนวัดความสามารถรวมของมนุษย์ เกือบทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ในตัวเดียวกัน โดยแสดงออกผ่าน 3 ตัวนี้ ซึ่งมีความสำคัญที่จะต้องพยายามวัดออกมาให้ได้ ถ้าวัดออกมาแล้วจะสามารถใช้คาดคะเน ใช้พยากรณ์อะไรต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย จึงได้พยายามสร้างแบบวัดทดสอบวัด SAT ใน 3 ด้านด้วยกัน ถ้าเด็กผ่านกระบวนการทดสอบความถนัดนี้ครูจะสามารถให้คำแนะนำผู้ปกครองได้ว่าควรให้เด็กเรียนอะไรหรือไม่ควรจะไปเรียนอะไรจึงเป็นประโยชน์สำหรับการแนะแนว อีกประการหนึ่งคือว่า เนื่องจากข้อสอบไม่ได้วัดตัวเนื้อหาสาระของความรู้ ดังนั้น ข้อสอบแบบนี้บางทีคนเห็นข้อสอบแล้วติวข้อสอบก็ทำข้อสอบผิด เพราะว่าถ้าเขาไม่ได้สะสมการเรียนรู้ มาอย่างสมบูรณ์ถูกต้องนี้แล้ว จะแปลความหมายข้อสอบผิด แต่ถ้าคนมีความเข้าใจมีสิ่งที่ต้องสะสมเป็นผลมาจากการเรียนรู้มาดี ก็จะแปลข้อสอบได้อย่างง่ายมาก ข้อสอบแบบนี้วัดคนเก่งได้ดี และมีอำนาจจำแนกความสามารถของคนได้สูง ถึงแม้ว่าจะรู้ข้อสอบ เก็งข้อสอบหรือพิมพ์ข้อสอบขาย ก็ไม่ได้ผลเป็นข้อสอบที่เราใช้ได้บ่อยและเด็กก็สามารถสอบได้บ่อยโดยไม่ขึ้นกับเนื้อหาสาระของการเรียนรู้ว่าเรียนจบหลักสูตรหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นจะสอบที่ไหนก็ได้ จะสอบชั้นม. 4 ก็ได้ จะสอบชั้น ม.5 ก็ได้ หรือจบไปแล้วมาสอบก็ได้ ปีหนึ่งสอบ 2 หนก็ได้ 3 หนก็ได้ แต่ถ้าคนที่เรียนรู้มากๆ คะแนนผลการเรียนรู้ก็จะพัฒนาบุคคลโดยส่วนรวม คะแนนการสอบก็จะพัฒนาขึ้นมาได้ หรือถ้าคนที่มีความสามารถสูง ๆ แต่เรียนรู้ยังไม่มากนักก็สามารถจะทำได้ เช่นเดียวกัน
ในระยะแรกคิดว่าจะให้เด็กสอบได้หลายครั้งในเวลาต่างๆ กัน โดยไม่จำเป็นต้องประกาศว่าให้มาสอบข้อสอบนี้พร้อมกันทั่วประเทศ ถ้าทำได้มาตรฐานจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมานั่งสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ใครพร้อมมาสอบเวลาไหนก็ได้ หรืออาจนัดเด็กเข้ามาสอบนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วส่งข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์เข้าไป แล้วเด็กก็ตอบข้อสอบต่อหน้าคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องใช้กระดาษ ดินสอ เด็กสอบเสร็จเด็กรู้คะแนนเลย แจ้งคะแนนได้เลย วันหลังไม่พอใจคะแนนก็นัดมาสอบใหม่ก็ได้ นี่คือความคิดที่มองไกลไปถึงอนาคตว่าอาจจะทำได้ดีถึงขนาดนั้น ทั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่กับอีกส่วนหนึ่งคือคลังข้อสอบ เพราะการสอบแต่ละครั้งเด็กจะจำข้อสอบได้ จำนวนหนึ่ง และก็จะบอกกันต่อไป แล้วก็จะมีธุรกิจจ้างคนมาจำข้อสอบ แล้วก็เอาไปพิมพ์ขาย เพราะฉะนั้น ข้อสอบก็จะรั่วไหลได้ กระบวนการพัฒนาข้อสอบจะต้องทำกันอยู่ตลอดเวลา เพื่อปรับปรุงข้อสอบให้แตกต่างไปจากข้อสอบเดิม สร้างสะสมไว้ แล้วข้อสอบแต่ละข้อทำถูกอาจได้ 1 คะแนน บางข้ออาจได้ไม่ถึง 1 คะแนน หรือได้มากกว่า 1 คะแนน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของข้อสอบที่ได้คิดคำนวณค่าไว้เรียบร้อยแล้ว
ในการสอบแต่ละโรงเรียน แต่ละอำเภอ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้ข้อสอบเดียวกันทั่วประเทศ เพราะว่ามีคลังข้อสอบอยู่เป็นพัน ๆ ข้อ และรู้คุณสมบัติของข้อสอบแต่ละข้อเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถจะให้คอมพิวเตอร์เลือกข้อสอบที่จะเอามาผสมผสานกันเป็น 1 ฉบับ แล้วก็มีค่าคุณสมบัติเท่าเทียมกัน เทียบเคียงกันได้ ถึงแม้ว่าข้อสอบนั้นจะแตกต่างกันไป ผลที่ออกมาก็จะสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างน่าเชื่อถือ เป็นธรรม และเป็นมาตรฐาน เมื่อเข้าใจความสำคัญของแบบทดสอบความถนัดทางการเรียน และเห็นประโยชน์ของโครงการประเมินคุณภาพการศึกษาด้านความถนัดทางการเรียนแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการดำเนินงานระดับจังหวัด และหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การดำเนินการสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน ให้นักเรียนทุกคนทำข้อสอบด้วยความตั้งใจและเต็มความสามารถ คณะทำงานทุกระดับปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในเอกสารที่กรมวิชาการจัดให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรักษาความลับของแบบทดสอบ และให้หน่วยงานระดับจังหวัดและกรมต้นสังกัดร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนที่ต้องรับผิดชอบ ต่อไป
จะจัดการศึกษาภาคบังคับให้มีคุณภาพได้จริงหรือ

มัณฑนา ศังขะกฤษณ์
ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ


การศึกษาภาคบังคับเป็นระดับการศึกษาที่จำเป็นที่สุดของคนไทย จึงต้องใช้คำว่า “บังคับ”เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ และยังต้องมีกฎหมายลูกที่กำลังยกร่างกันอีก เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า ระดับใดเป็นการศึกษาภาคบังคับ และจะบังคับทั้งฝ่ายผู้จัดฝ่ายผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างไรนอกจากนั้นในการจัดการศึกษาต่อไปนี้ยังต้องจัดการเรียนรู้แบบที่เด็กมีความสำคัญสูงสุด ซึ่งต้องมีแนวทางการจัดที่หลากหลายตามความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศที่เป็นอยู่นี้ ฝ่ายผู้จัดจะให้บริการผู้เรียนได้ทั่วถึง และที่สำคัญจะจัดให้มีคุณภาพได้อย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยหลัก ในการจัดการศึกษาภาค บังคับสำหรับเด็กไทยโดยมีองค์กรอื่นร่วมจัดด้วยได้แก่เทศบาล กรุงเทพ มหานครและอื่น ๆเดิมการศึกษาระดับนี้กำหนดไว้เพียงหกปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ละปีรัฐบาลจัดสรรงบ ประมาณ เพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ไม่นับรวมโรงเรียนเอกชน) ตั้งกระจายอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อ ให้บริการแก่เด็กในเขตชนบทซึ่งเป็นนักเรียนวัยการศึกษาภาคบังคับกลุ่ม ใหญ่ที่สุด โรงเรียนเหล่านี้รับผิดชอบจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา ผู้เรียนไม่ต้องจ่ายเงินบำรุงการศึกษาเพราะเป็นการจัดบริการแบบให้เปล่า แม้มีบางส่วนที่จัดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ ผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น แต่รัฐบาลก็จัดงบประมาณชดเชยเงินบำรุงการศึกษาให้
นักเรียนกลุ่มนี้มีความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหลายรายการ แต่บิดามารดา หรือผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาให้ได้ เพราะส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคม อาศัยอยู่ในชุมชนที่ขาดความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ เพื่อจัดสรรได้เพียงบางรายการ อาทิ นักเรียนระดับประถมศึกษาได้รับ เป็นค่าแบบเรียนค่าสมุด - ดินสอ ค่าเครื่องแบบนักเรียนค่าอาหารเสริม (นม) ค่าอาหารกลางวันค่าพาหนะให้นักเรียนที่เดินทางลำบากทุนการศึกษานักเรียนที่อยู่ห่างไกลและชายแดน การให้บริการสุขภาพค่าเวชภัณฑ์ และผงฟลูออไรด์ รวมทั้งค่าเครื่องช่วยฟังสำหรับนักเรียนพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้รับ เป็นค่าแบบเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน เงินชดเชยบำรุงการศึกษา และการให้บริการสุขภาพ
แม้ว่าแต่ละปี รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเหล่านี้ ให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้แก่นักเรียนได้ทุกรายการ ยิ่งไปกว่านั้น รายการต่าง ๆ ที่งบประมาณดังกล่าวจัดไว้ ก็ยังไม่สามารถให้นักเรียนได้ครบทุกคนทุกรายการ จึงเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาความขาดแคลนให้แก่ นักเรียนบางกลุ่มที่มีอยู่ในสังคมเท่านั้น และหากจะต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ เก้าปีแบบให้เปล่า อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดให้ขยายการศึกษาภาคบังคับจากเดิมหกปีเป็นเก้าปีไว้ในมาตรา 17 พร้อมทั้งกำหนดแนวการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ในมาตรา 24 ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการดังนั้น นับแต่นี้ไปนักเรียนทุกคนจะต้องได้รับบริการทางการศึกษาโดย
1)ได้เรียนรู้เนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดตามความแตกต่างของแต่ละคน
2) ได้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ไปใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
3) ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
4) ได้เรียนรู้โดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
5) ได้เรียนรู้โดยผู้สอนจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและนักเรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
6) ได้เรียนรู้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ โดยมีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดาผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากร และการลงทุน เพื่อใช้จัดการศึกษาทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพสถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศด้วย เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดบริการทางการศึกษาได้ตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งต้องจัดทำระบบ ข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียน ได้ตามเกณฑ์ความเพียงพอ ความเสมอภาคและความยุติธรรม อีกทั้งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการโรงเรียน โดยเฉพาะการร่วมวางแผน ตัดสินใจ และตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาณ อย่างจริงจัง
และประการสำคัญ ผู้บริหารโรงเรียนต้อง ไม่เป็นเพียงนักบริหารมืออาชีพเท่านั้น หากต้องเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ชั้นยอด สามารถระดมทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ายิ่งในแต่ละชุมชนทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น บุคลากรของหน่วยงานราชการหน่วยงานเอกชนองค์กร และสถาบันทางสังคมต่าง ๆ รวมทั้งวัดและศาสนสถานทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองมาช่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียนให้มากที่สุด ด้วยวิธีการเช่นนี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้ ค้นคว้าและค้นพบความรู้ต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมและธรรมชาติด้วยตนเอง และจะช่วยให้นักเรียนภาคภูมิใจในชุมชนของตนเองเป็นการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะชีวิตและหล่อหลอมให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดไป


การบริหารและจัดการศึกษา




การบริหารและจัดการศึกษา

ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการศึกษา โดยเฉพาะตามแนวทางของร่างพระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติต่างก็สนใจว่า รูปแบบ การบริหารและการจัดการศึกษาในที่สุดแล้วจะออกมา
เป็นอย่างไร แม้ว่าขณะนี้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติของคณะกรรมาธิการวิสามัญยังไม่สิ้นสุด แต่หลักการสำคัญที่รูปแบบในเรื่องนี้ก็ออกมาค่อนข้างจะชัดเจนพอสมควรแล้ว จึงอยากจะนำรูป แบบหลักๆ มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อว่าผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาและผู้สนใจจะได้ศึกษา และเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทางการบริหารและการจัดการศึกษา ของรัฐในเร็ววันนี้

แนวความคิดหลักล่าสุดจากผลการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2542 พอกล่าวได้ดังนี้
1. ให้มีกระทรวงหลักเพียงกระทรวงเดียว กำกับดูแลการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท
รวมทั้งการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติด้วย กระทรวงดังกล่าวจะได้ชื่อว่า กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

2. กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมจะมีหน้าที่หลักๆ เพียงสี่ประการ
ประกอบด้วย
1) กำหนดนโยบายและแผน
2) กำหนดมาตรฐานการศึกษา
3) สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
4) ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

3. กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมมีองค์กรหลักเพื่อทำหน้าที่พิจารณา ให้ความเห็นหรือคำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หรือคณะรัฐมนตรีสี่องค์กรด้วยกัน ประกอบด้วย
1) สภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณา กำหนดนโยบาย
แผนการศึกษาศาสนา และศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติการสนับสนุนทรัพยากร กระประเมินผลการจัดการศึกษาการดำเนินการด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายและกฎกระทรวงต่างๆ
2) คณะกรรมการการอุดมศึกษา มีหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐาน การอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และ วัฒนธรรมแห่งชาติ
การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล การจัด การศึกษาระดับอุดมศึกษา
3) คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่พิจารณากำหนดนโยบายแผนพัฒนา มาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนการศึกษา ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และ ประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
4) คณะกรรมการการศาสนา และวัฒนธรรม มีหน้าที่พิจารณา กำหนด นโยบาย
แผนพัฒนา กิจการด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

4. คณะกรรมการสภาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติ จะมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นรองประธานมีกรรมการโดยตำแหน่งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทน องค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนไม่น้อยกว่ากรรมการประเภทอื่นๆ รวมกัน กำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นสำนักงานเลขาธิการของสภาฯ ในคณะกรรมการอีกสามคณะก็จะมีสำนักงานคณะกรรมการเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

5. สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรีถูกกำหนดให้เป็นนิติบุคคล อาจเป็นส่วนราชการหรือเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ให้สถานศึกษาระดับปริญญาดำเนินกิจการ ได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มี เสรีภาพทางวิชาการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา

6. ในการบริหารและการจัดการขั้นพื้นฐานกำหนดให้มี พื้นที่การศึกษา การแบ่งพื้นที่การศึกษาให้คำนึงถึงปริมาณสถานศึกษา จำนวนประชากร และความเหมาะสมด้านอื่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมแห่งชาติมีอำนาจประกาศใน ราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่การศึกษา

7. ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดให้มีคณะกรรมการและสำนักงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนสถานศึกษาเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษา ประสาน และส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถจัดการศึกษา สอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา และสถานประกอบการที่จัดการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งการกำกับดูแลหน่วยงานด้านศาสนา และศิลปะวัฒนธรรมในเขตพื้นที่ การศึกษา

8. คณะกรรมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษา ประกอบด้วยผู้แทน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้แทนสมาคมผู้บริหารการศึกษาผู้แทนสมาคมครูและผู้ปกครองผู้นำทางศาสนา และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่ากรรมการประเภทอื่นรวมกัน มีผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมเขตพื้นที่การศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ

9. กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม กระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษาทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการ และสำนักงานการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม พื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง

10. กระทรวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมอาจจัดให้มีสำนักงานในระดับเหนือเขตพื้นที่ การศึกษาเพื่อมอบอำนาจให้ประสานและส่งเสริมด้านนโยบาย แผนมาตรฐาน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสำนักงาน และสถานศึกษากลุ่มเขตพื้นที่การศึกษา

11. ให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีของแต่ละกิจการของสถานศึกษา กรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนครู ผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนศิษย์เก่าของสถานศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนกรรมการประเภทอื่นรวมกัน อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง สำหรับผู้เขียนเองแล้วต้องรับว่าตื่นเต้นพอสมควร ทีเดียว นี่คือการปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐครั้งสำคัญเชื่อมั่นว่าการศึกษาในอนาคตจะเป็นการศึกษาเพื่อคนทั้งมวลและคนทั้งมวลเพื่อการศึกษาได้อย่างแท้จริง


วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

รายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อการศึกษา (สำหรับผู้บริหาร)

รายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ ICT เพื่อการศึกษา (สำหรับผู้บริหาร)

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ และการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาทุกแห่งได้มีความพร้อม รวมทั้ง ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณรวมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับกระทรวง นั้น
บัดนี้ การดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในสถานศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาได้ดำเนินการตามแผนไปในระดับหนึ่งแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จึงใคร่ขอนำเสนอผลการดำเนินงาน ดังกล่าว (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย) ดังรายงานสรุป ต่อไปนี้
๑. การดำเนินงานด้านการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยอาศัยเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของโรงเรียนในพื้นที่และของชุมชนร่วมกัน ทำให้ นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ มีความรู้ความเข้าใจ สามารถที่จะใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อการสื่อสารและการค้นหาข้อมูลได้ และนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และ ปีที่ ๖ ทุกคนสามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ตารางคำนวณ และใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูล รวมทั้งนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือประมาณร้อยละ ๕ สามารถเขียนโปรแกรมได้ และยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย ๕ แห่ง พัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้าน ICT ในปีการศึกษา ๒๕๔๖ นี้ จำนวน ๑๐ สถานศึกษา และได้ร่วมกับภาคเอกชนนำ ICT มาพัฒนาการเรียนการสอนในสถานศึกษา อีกไม่ต่ำกว่า ๑๘๐ แห่ง
๒. การพัฒนาครูและบุคลากรด้านการศึกษา ปัจจุบันได้พัฒนาแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๘ (ประมาณ ๓๕๓,๔๗๗ คน) ให้มีความรู้ ประสบการณ์และทักษะด้านการใช้ ICT การสอนคณิตศาสตร์ / วิทยาศาสตร์ /เทคโนโลยี รวม ๖ หลักสูตร และจะเร่งดำเนินการพัฒนาต่อไปให้ครบทั้งหมด อีกประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ คน ภายในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ นี้
๓. การพัฒนาสื่อและซอฟต์แวร์ ได้พัฒนาสื่อประเภทเว็บไซต์ให้เป็นศูนย์รวมข่าวสารข้อมูล แหล่งเรียนรู้ อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ เว็บไซต์ และในจำนวนนี้ ๗๐๐ เว็บไซต์ เป็นของสถานศึกษา ซึ่งได้เริ่มต้นโดยการสนับสนุนที่ดียิ่ง จากโครงการ School Net ของ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จากสถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ มีมากถึงวันละ ๕๐,๐๐๐ ครั้ง นับเป็นสถิติสูงสุดของหน่วยงานราชการในกลุ่มเว็บไซต์ ประเภท กระทรวง รวมทั้ง ได้พัฒนาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ เล่ม และกำลังพัฒนาเพิ่มอีกประมาณ ๑,๐๐๐ เล่ม และได้มีการจัดประกวดสื่อ ได้สื่อต้นแบบทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ชุด/วิชา และได้มีการพัฒนาCourseware ไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ชุด/วิชา มี ศูนย์รวมสื่อไม่ต่ำกว่า ๑๐ ศูนย์
๔. การจัดหาและพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันสถานศึกษาร้อยละ ๓๓ หรือประมาณ ๑๔,๑๕๗ แห่ง สามารถเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตได้ สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาจะเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตได้ทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ นี้ และสถานศึกษาไม่ต่ำกว่า ๑๔,๓๐๘ แห่ง หรือประมาณร้อยละ๓๓ มีระบบคอมพิวเตอร์ใช้ ประมาณ ๑๑๙,๓๒๔ เครื่อง และยังได้ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร จัดโครงการปลูกต้นกล้าปัญญาเด็กไทย และโครงการส่งเสริมเด็กไทยด้วยICT รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้วได้ไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ เครื่อง รวมทั้งได้มอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษาและสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับสถานศึกษา
๕. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ(MIS)ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง ระบบสารสนเทศด้านบุคลากร โดยมุ่งเน้นข้อมูลรายบุคคลของนักเรียนครูบุคลากรการศึกษาเพื่อรองรับนโยบาย Smart Card ภายในต้นปีการศึกษา๒๕๔๖นี้จะมีข้อมูลรายบุคลของนักเรียนทุกคน และยังพัฒนาให้มีระบบสารบรรณ ระบบพัสดุครุภัณฑ์ ระบบงบประมาณ ตามนโยบายการพัฒนาe-Government และการให้บริการ (Front Office) ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการในระดับกระทรวง(MOC) กรม(DOC) เขตพื้นที่และสถานศึกษา เพื่อรองรับศูนย์ปฎิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ซื่งในปัจจุบันศูนย์ทุกระดับเริ่มให้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อการจัดหาระบบGISที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนในทุกระดับ และการใช้งานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
๖. การดำเนินการด้านการบริการและการเพิ่มประสิทธิภาพจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานและบุคลากรทุกระดับทุกคนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในบทบาทภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ปัจจุบันทุกหน่วยงานระดับกรม กอง มีและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่าย คิดเป็นร้อยละ๑๐๐ ส่วนบุคลากรทุกระดับในหน่วยงานระดับกรม กอง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๕ ใช้ e-mail และระบบอิเลคทรอนิคส์ในหลากหลายรูปแบบในการติดต่อสื่อสารในการปฏิบัติงานในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง ในการเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ในช่วงนี้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานศึกษาได้มีความต้องการอย่างชัดเจน ในการที่จะมีระบบคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนการสอน และหากต้องดำเนินการตามแผนก็จะมีครบทุกแห่งในปีงบประมาณ ๒๕๔๙
ดังนั้น หากรัฐบาลจะให้การสนับสนุนในการจัดหาโดยวิธีการเช่า ก็จะทำให้การพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนาปวงชนทุกระดับได้รวดเร็วขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงขอนำผลการดำเนินงานในด้านนี้ เรียนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและขอรับการสนับสนุน ทั้งแผนการดำเนินงานในอนาคต(ปีงบประมาณ ๒๕๔๗ - ๒๕๔๙) ตามแผนแม่บทด้าน ICT ของกระทรวงศึกษาธิการ และแนวทางที่จะทำให้การพัฒนาและการส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษามีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาปวงชนทุกระดับให้ได้รับการพัฒนาตามแผนได้รวดเร็วขึ้น ต่อไป


ครูอาชีพ

ครูอาชีพ
ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะมีคนมาหามาขอพบปลัดกระทรวงอยู่เป็นประจำ เรื่องที่มาพบมีอยู่มากมายหลายอย่าง เป็นต้นว่ามาขอให้ช่วยย้ายญาติ มิตร ลูก หลาน จากท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลให้มาอยู่ที่สะดวกสบายหน่อย ร้อยละเก้าสิบ อ้างเหตุว่าสุขภาพไม่ดี พ่อแม่แก่ชรา ห่างไกลครอบครัว ถ้าเป็นฤดูรับนักเรียนก็เป็นเรื่องขอให้ฝากเข้าเรียนในโรงเรียนดังๆ ถ้าเป็นข้าราชการบางคนก็มาขอให้ช่วยเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มาระบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจเรื่องการศึกษาของชาติ เช่นเรื่องหลักสูตรว่าทำไมไม่สอนเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้มาก ๆ ทำไมไม่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย ทำไมไม่สอนให้เหมือน ๆ กันทั้งประเทศ ครูสอนไม่ดี ผู้บริหารไม่รับผิดชอบ บางคนก็มาขอให้ไปสร้างโรงเรียนใหม่ อาคารใหม่ให้
มีเรื่องหนึ่งที่สะดุดใจเพราะเห็นว่ามีหลายคนพูดถึงแม้ในการประชุมสัมมนาหลายๆ ครั้ง คนก็เป็นห่วง อยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนคือ เรื่องของครู ปัญหาของครูมีตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวของครู คือครูมีหนี้สินมาก ปัญหาเรื่องความประพฤติ เพราะมีข่าวเรื่องครูกระทำอนาจารศิษย์ ครูไปเกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ครูขาดความรู้ความสามารถที่จะจัดการเรียนการสอนให้ได้ผลดีตามความคาดหวังของหลักสูตร ครูสอนไม่เป็น วัดผลไม่เป็น และครูไม่พัฒนาตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดครูในบางสาขาวิชา ครูเกินในบางสาขาวิชา ครูล้นในบางพื้นที่ และขาดครูในบางพื้นที่หลายคนสรุปให้ฟังว่าถ้าครูของเรายังมีปัญหา แล้วเราจะคาดหวังคุณภาพการศึกษาของชาติได้อย่างไร
ปัญหาของครูที่สำคัญที่สุด คงจะเป็นเรื่องของจัดการเรียนการสอนของครูหรือถ้าจะใช้ภาษาให้ทันสมัยขึ้น ก็คือเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการศึกษา ส่วนปัญหาเรื่องอื่นเป็นปัญหาส่วนตัว ก็ไม่ใช่ไม่มีผลกระทบ แต่มีผลกระทบโดยอ้อมเป็นเรื่องที่น่า 2 ประหลาดที่คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าครูสอนไม่เป็นครูขาดความรู้ความสามารถ ถ่ายทอดความรู้ไม่เป็น ทั้งๆ ที่ครูมีอยู่ในระบบปัจจุบันกว่าร้อยละแปดสิบจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และส่วนใหญ่จบจากสถาบันฝึกหัดครู ซึ่งเป็นของรัฐ รัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลหรือว่าครูที่สถาบันเหล่านี้ผลิตออกมายังไม่ได้คุณภาพมาตรฐานดีพอ หรือเป็นเพราะครูเหล่านี้มีมาตรฐานดีแล้ว แต่ขาดการพัฒนาตนเองจนทำให้ล้าสมัย ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและมีคุณภาพ
ที่จริงในระบบปัจจุบันปีหนึ่ง ๆ มีผู้จบทางครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์จำนวนมากถึงประมาณ 40,000 คน ในขณะที่ครูใหม่ที่รับเข้าไปปีหนึ่งเพียงประมาณ 3,000 - 4,000 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของผู้จบการศึกษาเท่านั้นเอง การคัดสรรคนจำนวนน้อยจากคนกลุ่มใหญ่ ๆ เช่นนี้ น่าจะได้หัวกะทิชั้นดีมาเป็นครู และไม่ควรจะมีปัญหาใด ๆ แต่คำอธิบายจากหลาย ๆ คนก็คือ แม้ว่าจะเป็นการเลือกคนจำนวนน้อยจากกลุ่มคนจำนวนมากก็ตามในปัจจุบันคนที่มาเรียนครูมักเป็นผู้ไม่รู้จะไปเรียนอะไรดีหรือเข้าเรียนอย่างอื่นไม่ได้ต่างจากสมัยก่อนที่คนเรียนครูจำนวนมากเป็นคนเก่ง เห็นว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ จึงมาเรียนครู จึงได้คนเก่งมาเป็นครู
ในฐานะที่ผมเองเคยเป็นนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏแห่งหนึ่ง เป็นกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูใหม่ก็ได้เห็นข้อมูลพอสมควรว่าในปัจจุบันยังมีคนเก่งไม่น้อยเลยที่มาเรียนครู โดยเฉพาะคนที่มาจากชนบทมีฐานะไม่ค่อยดีนัก เพราะการเรียนที่สถาบันราชภัฏมีค่าใช้จ่ายน้อย อยู่ใกล้บ้านเหมาะสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อยส่งลูกหลานไปเข้าเรียน
แล้วอะไรคือสาเหตุใหญ่ ที่ครูมีปัญหาในเรื่องคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสรุปให้ผมฟังว่าต้นตอของปัญหาทั้งหลายไม่ใช่อยู่ที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่อยู่ที่ฐานะทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางสังคม แต่อยู่ที่จิตวิญญาณของความเป็นครู ครูสมัยก่อนเป็นครูทั้งชีวิต คือนอกจากทำหน้าที่ให้การ 3 ศึกษาอบรมแก่ลูกศิษย์แล้วยังมีความเอื้ออาทรห่วงใย รักใคร่ผูกพัน ปรารถนาอยากให้ลูกศิษย์เติบโตก้าวหน้าเป็นคนดี มีความสุข มีความสำเร็จ ครูสมัยก่อนมีเงินเดือนไม่มาก แต่ทำหน้าที่ด้วยความรัก จึงทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับศิษย์ แต่ครูสมัยนี้ขาดความรู้สึกผูกพันเช่นนี้ ทั้งที่มีเงินเดือนสูงกว่าเมื่อก่อนมาก
ผมเคยเขียนเรื่องที่เคยสนทนากับ พล.อ.เปรม ไว้ครั้งหนึ่งในเรื่องความสุขในชีวิตอยากขออนุญาตเอ่ยอ้างชื่อท่านไว้อีกสักครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้น ฯพณฯ พล.อ.เปรม ถามผมว่า “ปลัดรู้ไหม อาชีพครูกับครูอาชีพเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร” ในงานนิทรรศการมหกรรมการศึกษาปี 2000 มีซุ้มแสดงเรื่อง “ครูมืออาชีพ” ท่านทักว่าไม่น่าจะถูกต้อง ผมถามว่าถ้าอย่างนั้น เรียกว่า “ครูวิชาชีพ” จะได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ คือไม่ใช่ทั้ง “ครูมืออาชีพ” และ “ครูวิชาชีพ” ที่ถูกควรเป็น “ครูอาชีพ”
ท่านอธิบายต่อไปว่า “ครูอาชีพ” คือ ครูที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู คือ มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการให้การศึกษาอบรมศิษย์ในทุกๆ ด้าน มีความประพฤติดี วางตัวดี เอาใจใส่ดูแลศิษย์ดี มีวิญญาณของความเป็นครูและปฏิบัติหน้าที่ครูด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนอาชีพครูคือคนที่มายึดอาชีพครู เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมาดำรงชีพ ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู จึงปฏิบัติหน้าที่ครูเพราะมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ไม่ใช่เพราะมีใจรักที่จะทำประเทศไทยต้องการ “ครูอาชีพ” ไม่ใช่ “อาชีพครู” ขณะนี้เรามีคนที่มีอาชีพครูมาก แต่มี “ครูอาชีพ” น้อย เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ท่านหันมาถามผมอีกครั้งหนึ่ง
ครับคำพูดของ พล.อ.เปรม ทำให้ผมต้องคิดหนัก ภาพลักษณ์ของครูที่ถูกมองว่าเป็นอาชีพครู ไม่ใช่ครูอาชีพ ย่อมเป็นปัญหาใหญ่ทางการศึกษาอย่างแน่นอนและเป็นความจริงที่หลาย ๆ คนมองเห็นอยู่ และอยากเห็นว่ามีการปฏิรูป ผมเห็นว่าจิตวิญญาณของความเป็นครูน่าจะมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เพราะจะ 4 เป็นตัวกำหนดให้คนรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ ทุ่มเทเสียสละ เพื่อคุณภาพการศึกษาของศิษย์ คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูคงไม่ประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางจนเป็นที่ครหานินทาของผู้อื่น เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ศิษย์ คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูคงต้องรู้จักพัฒนาตน แสวงหาความรู้ใส่ตน เพื่อว่าตนจะได้ถ่ายทอดความรู้ ความคิดและมีเทคนิคในการส่งเสริมสนับสนุนให้ศิษย์ได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย คนที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูย่อมรักใคร่ห่วงใย และมีความปรารถนาดีต่อศิษย์ กล่าวได้ว่าต้นตอของการได้ครูดี ครูที่พึงประสงค์ “ครูอาชีพ” จึงน่าจะอยู่ที่จิตวิญญาณนี้ จากนั้นก็ต้องพัฒนาครูให้มีความพร้อมในด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และมีมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ก็จะช่วยให้เกิด “ครูอาชีพ” ขึ้นได้ไม่น้อยทีเดียว แต่สิ่งที่หลายคนยังเป็นห่วง คือ เกรงว่ามาตรฐานวิชาชีพจะให้ความสำคัญกับคุณวุฒิทางการศึกษา มากกว่ามาตรฐานจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดยาก และวัดยาก แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น
ผมชอบใจความคิดเรื่อง “ครูอาชีพ” ของ ฯพณฯ ท่านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงขอจดบันทึกเรื่องนี้ไว้ เพื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจะได้นำไปพิจารณาหาทางให้บังเกิดเป็นผลสำเร็จต่อไปในวันข้างหน้า


ครูและบุคลากรทางการศึกษาทำอะไร ได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา

ครูและบุคลากรทางการศึกษาทำอะไร ได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา
ดร.สงบ ลักษณะ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

บทความนี้ขอทำหน้าที่เก็บสาระผลงานการประชุมปฏิบัติการเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเมื่อ 29 เมษายน 2544 และผลความคืบหน้าของการเตรียมการที่กระทรวงศึกษาธิการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานปฏิรูปการศึกษา มาเล่าสู่กันฟัง

ความอยากรู้ของผู้มีส่วนได้เสียกับการปฏิรูปการศึกษามีมาก แต่ข่าวสารที่ปรากฎกลับมีน้อยไม่ได้ดังใจ ผู้คนรู้แต่เพียงว่าจะมีการยุบรวมกระทรวง ทบวง กรม ตั้งเป็นกระทรวงใหม่ จะลดจำนวนกรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มาเหลือ 5 กรมในชื่อของสำนักงาน 5 ชื่อ และมีหน่วยงานอิสระอีก 7 หน่วยงาน และผู้คนรู้แต่เพียงว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติ 23 ฉบับเพื่อให้มีผลบังคับใช้ 20 สิงหาคม 2545 รวมถึงจะมีการปรับเปลี่ยนอัตรากำลังจัดที่ทำงานของข้าราชการกันยกใหญ่
แต่ที่ผู้คนอยากรู้ คือ เด็กและเยาวชนในวัยเรียนจะมีอะไรดีขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้ปกครองและประชาชนจะได้อะไร ครูและบุคลากรทางการศึกษาเขาจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอะไร เขาจะต้องเริ่มทำตัวอย่างไร และเขาจะมีสุขหรือทุกข์เพิ่มขึ้นอย่างไร จากการปฏิรูปการศึกษา
สิ่งที่มีความเข้าใจขั้นต้นให้ตรงกัน คือ เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการศึกษามุ่งไปที่ความปรารถนาให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคนเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีความสุข เป็นกำลังของประเทศชาติในอนาคต เราต้องการสร้างพวกเขาให้เป็นมนุษย์ปัญญา มนุษย์คุณธรรม และมนุษย์ที่ปรับตัวได้เก่งให้ก้าวทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ผ่านทางการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต
ความสำเร็จของเป้าหมายนี้ จำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงในปัจจัยองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินงานไปสู่ผลที่เด็กและเยาวชน เช่น จำเป็นต้องยกเครื่องกันใหม่ในเรื่องระบบหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ วิธีการทำงานของครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่องการจัดทรัพยากร การใช้เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ
กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ของการรับประกันและคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ทั้งโดยรัฐ โดยหน่วยงานราชการ และโดยบุคลากรรวมถึงประชาชนทุกฝ่าย ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมดีงาม และมีความยั่งยืนในความต่อเนื่องเอาจริง
ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวชัดเจนว่า กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ควรคิดทีหลัง เราควรคิดตั้งต้นในผลลัพธ์ที่เราอยากได้ก่อน ตามมาด้วยการช่วยกันคิดยุทธศาสตร์หรือแนวดำเนินงานหลัก ที่จะเป็นวิถีทางนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ได้ครบ ตรง รวดเร็ว และประหยัด หลังจากนั้นค่อยย้อนกลับมาดูกฎหมายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ว่ามีสิ่งใดที่เอื้อประโยชน์ มีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรค และควรมีสิ่งใดเพิ่มเติม ก็ดำเนินการด้านกฎหมายได้
นี่แสดงว่ากฎหมายทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือให้เกิดความสะดวกในการทำงานเท่านั้น ไม่ใช่คิดกฎหมายก่อนเป็นคัมภีร์ แล้วค่อยมาคิดวิธีทำงานให้เข้ากับกฎหมาย
ปัญหาที่คาใจครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาต่าง ๆ มีค่อนข้างมาก เช่น ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบันจะเปลี่ยนไปอย่างไร บทบาทหน้าที่ใหม่คืออะไร ปัจจุบันเขาต้องเตรียมตัวอย่างไร ปัญหาอุปสรรคของการทำงานในปัจจุบันจะได้รับการแก้ไขอย่างไร ผลการตอบแทนทั้งในด้านเงินและความเจริญเติบโตในสายงานจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
หัวใจสำคัญของความสำเร็จของการพัฒนามนุษย์ให้มีคุณสมบัติล้ำเลิศสมบูรณ์ อยู่ที่การส่งเสริมให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ครูจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการจัดการเรียนการสอน บทบาทใหม่ของครูมีหลายประการ เช่น
1. เปลี่ยนความคิดจาก ครูเป็นผู้สอน (Teacher -Teaching) มาเป็น ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ (Learner-Learning) เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงจากการทำโครงงาน (Project – based Learning) เรียนรู้จากการทำกิจกรรมแสวงหาความรู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองอย่างสนุกสนาน (Activity – based Learning)
2. ครูต้องมีความสามารถในการออกแบบระบบการเรียนการสอนที่เน้นมาตรฐานผลการเรียนรู้ ทั้งมาตรฐานสากล (Global Literacy) เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรฐานความรู้ความสามารถในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นชาติไทย วัฒนธรรม คุณธรรม และมาตรฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องของท้องถิ่น ระบบการเรียนการสอนจะครอบคลุมถึงการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ การกำหนดเนื้อหาสาระ การกำหนดกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การใช้สื่อการเรียนการสอน การติดตามประเมินผลการเรียนรู้ ในแนวทางของการรับประกันผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนเต็มศักยภาพ

ระบบตำแหน่งใหม่ของครู และศึกษานิเทศก์ จะมี 4 ระดับ คือ ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา มี 4 ระดับเหมือนกัน แต่เรียกชื่อว่า ระดับรองผู้อำนวยการ ระดับผู้อำนวยการ ระดับผู้อำนวยการชำนาญการ และระดับผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ
อัตราเงินเดือนตั้งต้นของแต่ละระดับก็กำหนดให้มากทัดเทียมวิชาชีพสาขาอื่น เพื่อจูงใจให้คนเก่งคนดีมาทำงาน และเพื่อสงวนรักษาคนเก่งคนดีให้อยู่กับงาน อุทิศตนกับงานจนลดความกังวลเรื่องฐานะเศรษฐกิจ ในบรรดาตำแหน่ง 4 ระดับที่กล่าวถึงนั้น ระดับแรกเงินเดือนตั้งต้นที่ 19,920 บาท ระดับที่สองตั้งต้นที่ 30,850 บาท ระดับที่สามตั้งต้นที่ 38,030 บาท และระดับที่สี่ตั้งต้นที่ 55,290 บาท
นอกจากเงินเดือนแล้วครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังได้รับเงินตอบแทนในรูปของเงินวิทยฐานะ หรือเงินประจำตำแหน่งด้วย นอกจากนี้ ถ้าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีผลงานดีเด่น หรือผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เช่น ครูแห่งชาติ ฯลฯ ก็จะได้รับเงินตอบแทนที่เรียกว่า “เงินวิทยพัฒน์” ด้วย
ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ที่เดิมมีข้อจำกัดในการออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการทำวิจัยหรือพัฒนางานวิชาชีพ จะได้รับประโยชน์จากเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาครู คณาจารย์และผู้บริหารหลักการสำคัญของการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของครู และบุคลากรทางการศึกษา คือ
1. ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความสามารถในการนำตนเองไปสู่การทำงานที่ได้มาตรฐาน รับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น สามารถแสวงหา คิดค้นวิธีการที่แหลมคมที่จะรับประกันความสำเร็จของการบรรลุผลที่ พึงปรารถนา สามารถแก้ปัญหาปรับปรุงกระบวนการทำงานของตนอยู่ตลอดเวลา

2. การส่งเสริมคนเก่งคนดี ระบบใหม่ของการบริหารจัดการด้านบุคคล จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพในการแสวงหาคนเก่ง คนดีเข้ามาทำงาน พิทักษ์ปกป้องส่งเสริม รักษาให้คนเก่งคนดีคงอยู่ในระบบงานมีกำลังใจมีความสุขในการทำงาน ช่วยเหลือพัฒนาผู้ด้อยความสามารถให้มีความสามารถในการทำงาน แต่ถ้าเหลือกำลังช่วยเหลือ ก็ต้องมีวิธีกำจัด ผู้ไม่พึงปรารถนาออกจากระบบได้ ในการประชุมปฏิบัติการครั้งที่แล้ว ที่ประชุมเป็นห่วงว่าครูเก่งครูดียังมีจำนวนน้อย ระบบใหม่จะต้องไปค้นหาครูเก่งครูดีให้พบ ส่งเสริมให้เติบโต เช่น ประเมินเข้าสู่ระดับตำแหน่งสูงขึ้นโดยไม่ต้องให้เขา ต้องมาทำเอกสารผลงานวิชาการ ให้ทุนสนับสนุนให้เขาเผยแพร่ขยายผลความเก่งความดี สู่เพื่อนครูได้สะดวกยิ่งขึ้น

3. การจัดเครื่องมีอเครื่องใช้อำนวยความสะดวกแก่ครู การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สนองความแตกต่างของผู้เรียน ในด้านความสามารถ ความสนใจ และความต้องการ จำเป็นต้องใช้สื่อ อุปกรณ์การเรียนรู้และเทคโนโลยีช่วยการเรียนที่หลากหลาย ในช่วงที่ผ่านมาครูต้องรับภาระและใช้เวลามากไปกับการสร้างสื่อช่วยการเรียนการสอนด้วยตนเอง ทำให้มีเวลาน้อยลงในการปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้ อีกทั้งการที่สถานศึกษามีสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยี อย่างสมบูรณ์แตกต่างกันมีผลทำให้มาตรฐานคุณภาพของการจัดการศึกษามีความแตกต่างกันระหว่างสถานศึกษาต่าง ๆ
ดังนั้นถ้ารัฐรับภาระสร้างความเสมอภาคระหว่างสถานศึกษาในการมีความพร้อมในด้านเครื่องมือเครื่องใช้อำนวยความ สะดวกแก่ครู ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความสำเร็จของคุณภาพการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปการศึกษาได้มากขึ้น

4. การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ การบริหารจัดการทางการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานศึกษา จำเป็นต้องสร้างวิสัยทัศน์ กระบวนการคิดตัดสินใจ กระบวนการวางแผน กระบวนการปฏิบัติงาน และเจตคติค่านิยมกันใหม่ ให้เน้นไปที่การมองเป้าหมายความสำเร็จในผลลัพธ์ที่ทุกคนต้องการและเห็นพ้องต้องกัน ร่วมกันคิดค้นวิธีการที่แหลมคม ที่จะนำไปสู่ผล พอใจกับการประเมินตรวจสอบผลการทำงาน และรับผิดชอบต่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อผลที่ดีขึ้นอยู่เสมอ
ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับตรงกันว่า การปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องของทุกคนทุกฝ่ายที่จะมีส่วนร่วม เราอาจจะเริ่มจากการทบทวนบ่นถึงปัญหาอุปสรรคของการจัดการศึกษา แต่เราจะต้องรีบคิดเสนอแนะทันทีว่าเราจะช่วยกันแก้ปัญหาอุปสรรคนั้น ๆ ได้อย่างไร และเราคงไม่ต้องเน้นมากนักว่าครู และบุคลากรทางการศึกษาจะได้อะไรจากการปฏิรูปการศึกษา แต่จะไปเน้นว่าเด็กและเยาวชนควรได้อะไร และเราจะช่วยให้อะไรและทำอะไร เพื่อเด็กและเยาวชน ได้บ้าง


ความรู้คู่คุณธรรม

ความรู้คู่คุณธรรม

ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์


มีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่าระหว่างความรู้กับคุณธรรม อะไรสำคัญกว่ากันในโลกยุคสื่อสารไร้พรมแดน ข้อมูลหลั่งไหลมาได้จากทั่วทิศ มีทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ ข้อมูลบางอย่างก็นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ นำความเสื่อมเสียทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมมาให้ แต่คนเราก็ต้องแสวงหาความรู้ เพราะเชื่อมั่นว่าความรู้คือกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จ
คนไทยให้ความสำคัญกับการเรียน เพื่อให้ได้ความรู้ไม่ยิ่งหย่อนกว่าชนชาติใด ๆ จะเห็นได้จากการที่แย่งกันเข้าเรียนในโรงเรียนหรือในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงกันอยู่ประจำ จนยากที่จะแก้ได้ ทั้งนี้คงเชื่อว่าถ้าบุตรหลานได้เรียนโรงเรียนดัง ๆ แล้วจะได้ความรู้มากกว่าโรงเรียนอื่น คนเรียนเก่งก็ได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม สมัยหนึ่งถึงกับมีการจัดลำดับคนที่สอบได้คะแนนเป็นลำดับที่เอาไว้ แต่คนเรียนเก่งหลายคนต่อมาก็ประสบความล้มเหลวในชีวิตที่เรียกว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด
เมื่อมีข่าวทางสื่อมวลชนว่า คนที่เรียนแพทย์กลายเป็นฆาตรกรที่โหดเหี้ยมที่สุด คนที่เคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดคดโกงผู้อื่น และบางคนกล่าวว่าภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากนักธุรกิจการเงิน ที่ชาญฉลาดบางคนแสวงหาประโยชน์ใส่ตนโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น บางคนหนีไปอยู่ต่างประเทศพร้อมความร่ำรวยส่วนตนบนความยากจนของชาติ คนฉลาดอย่างนี้หรือที่ประเทศชาติปรารถนา คงไม่ใช่อย่างแน่นอน และหลายคนก็กล่าวโทษว่าเป็นเพราะการศึกษาของเราไม่ดี เน้นสร้างคนฉลาดมากกว่าสร้างคนดี เป็นผลให้เราได้คนเก่งแต่ไม่ดี กลายเป็นคนเก่งที่เป็นพิษภัยต่อผู้อื่น
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการศึกษาต้องสร้างคนดี คือทำคนให้เป็นคนดีด้วย ไม่ใช่สร้างแต่คนเก่งอย่างเดียว ประเทศชาติต้องการทั้งคนเก่งและคนดี ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าระหว่างคนเก่งและคนดีอย่างไหนควรมาก่อนกัน
ถ้าหากให้วิเคราะห์ในระบบปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับคนเก่งมากกว่าคนดี เริ่มตั้งแต่แรกเข้าเรียนโรงเรียนมีชื่อเสียงยังคงใช้วิธีสอบคัดเลือกคนเข้าเรียน โดยอ้างเหตุว่าต้องการคนเก่งเข้าเรียนเพื่อรักษาชื่อเสียงของโรงเรียน แปลว่าถ้านักเรียนไม่เก่งโรงเรียนก็ไม่มีชื่อเสียง บางคนถึงกล่าวว่าทำให้คุณภาพของโรงเรียนลดลงไปด้วย โรงเรียนมัธยมของรัฐและเอกชนจำนวนมากยังนิยมใช้วิธีสอบแข่งขันคัดเลือกคนเข้าเรียน ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผมถามทุกคนเสมอว่า คนที่สอบไม่ได้ถือว่าเขาได้รับโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ และต่อไปคงต้องคิดว่าการสอบแข่งขันคัดเลือกขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในระดับอุดมศึกษาก็ให้ความสำคัญกับคนเก่ง ดังเห็นได้จากการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยมักใช้การสอบเป็นสำคัญ การพิจารณาคุณสมบัติอื่น ๆ มีน้อยมาก
เรากำลังให้ความสำคัญกับคนเก่งทางความรู้มากเกินไปหรือเปล่า เรากำลังละเลยความเป็นคนดีหรือเปล่า หรือเราคิดว่าถ้าคนเก่งแล้วก็จะเป็นคนดีได้โดยอัตโนมัติ จึงไม่ต้องให้ความสำคัญกับการเป็นคนดี ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง ไม่ถูกต้อง ดังปัญหาที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น จริง ๆ แล้วระบบการศึกษา ควรต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนให้เป็นคนดีไม่น้อยกว่าการสร้างคนเก่ง
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 23 กล่าวว่า การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา…. นั่นคือทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป มาตรา 23 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดการศึกษา ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด…. เมื่อเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ทุกคนได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ตัดโอกาสเพราะสอบไม่ได้ ไม่เก่ง ไม่มีความรู้พอ
การสร้างคุณธรรมก็คือ การสร้างให้คนเป็นคนดีนั่นเอง การสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดีต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอบรมหรือคือส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าถ้าจะพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม ก็ต้องให้เรียนวิชาที่ว่าด้วยศีลธรรม จริยธรรม ตามหลักของศาสนามาก ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่การสร้างคุณธรรมคงไม่สามารถแยกสร้างได้ต่างหากจากการเรียนรู้ในเรื่องอื่น ๆ คุณธรรมความเป็นคนดี เป็นคุณลักษณะทางจิตใจที่แสดงออกมาผ่านการประพฤติปฏิบัติ การตัดสินใจทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง บนพื้นฐานความเชื่อที่เป็นค่านิยมทางคุณธรรมนั้น ๆ คือพฤติกรรมของคนที่ปรากฏจะส่อแสดงให้เห็นถึงความคิดความเชื่อเชิงคุณธรรม และจะบ่งบอกได้ว่าเป็นพฤติกรรมของคนดีหรือคนไม่ดี พฤติกรรมเหล่านี้ที่สำคัญเช่น ความเป็นคนรู้จักหน้าที่ รับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ความเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต รู้จักเสียสละ อดทน ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น
กระบวนการเรียนรู้สามารถพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้โดยไม่ต้องมีวิชาคุณธรรมให้เรียนเป็นพิเศษ เพราะคุณธรรมที่พึงประสงค์สามารถสร้างให้เกิดได้ ผ่านกระบวนการปฏิบัติงาน ทั้งงานส่วนบุคคลและการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การเรียนรู้ที่ดีจึงควรเป็นการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น แสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทดลองทำงาน ฝึกทดลองด้วยตนเอง ร่วมกับผู้อื่น ศึกษาค้นคว้า และทดลองปฏิบัติ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และข้อค้นพบระหว่างผู้เรียนด้วยกันหรือระหว่างผู้เรียนกับผู้รู้ กระบวนการเหล่านี้ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เรื่องคุณธรรมโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องสอนวิชาคุณธรรม เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เขาต้องเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความอดทน เสียสละ ความซื่อสัตย์ สุจริต ต้องรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ ถ้าเขาได้ทำมาก ๆ ก็จะสานก่อเป็นเจตคติ เป็นความเชื่อ และถ้าเขาปฏิบัติอยู่เสมอก็จะเป็นความเคยชิน เป็นสำนึกที่จะต้องประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เสมอ ดังนั้น ที่พระราช-บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การศึกษาต้องให้ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม และกระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา จึงเป็นหลักการจัดการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดทั้งความรู้ และคุณธรรมไปพร้อม ๆ กัน
มีบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 เป็นโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งที่ผมท่องขึ้นใจมาตั้งแต่เด็กสามารถเอามาอธิบายความสำคัญของคุณธรรมกับความรู้ที่จะต้องมีควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างดี นั่นคือบทที่ว่า

ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริตคือเกราะบัง ศาตรพ้อง
ปัญญาประดุจดัง อาวุธ
กุมสติต่างโล่หป้อง อาจแกล้วกลางสนาม

ขอฝากบันทึกนี้ไว้กับนักการศึกษา และเพื่อนครูทั้งหลาย อย่าได้หลงลืมใส่ใจ ให้คุณธรรมเกิดควบคู่กันไปกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของผู้เรียนและอย่าลืมว่า ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้เรียนด้วย


หลักการ ทฤษฎี และกระบวนการบริหารงานวิชาการ

หลักการ ทฤษฎี และกระบวนการบริหารงานวิชาการ


การบริหารโดยทั่วไปมีความมุ่งหมายเพื่อต้องการให้การปฏิบัติงานบรรลุตามวัตถุประสงค์ การบริหารจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งมีเทคนิควิธีเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยอาศัยหลักการและกระบวนการ ก่อนที่จะกล่าวถึงหลักการและกระบวนการจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของการบริหารและงานวิชาการ ดังนี้

2.1 ความหมายของการบริหารและการบริหารงานวิชาการ
การบริหารในฐานะที่เป็นศาสตร์ (Science) ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎี หลักการและเหตุผลจำเป็นต้องกระทำอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการ การบริหารมีความหมายและความสำคัญตามทัศนะต่าง ๆ เช่นแคมป์เบลล์ และคณะ (Campbell and Others. 1976 : 137) ได้กล่าวถึงการบริหาร หมายถึง ขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินงานที่ผู้บริหารต้องทำหน้าที่ดำเนินการให้ผู้ปฏิบัติได้ดำเนินงานจนเสร็จสิ้น ได้ผลงานตามที่ต้องการ ไซมอน (Simon. 1976 : 1) ได้กล่าวถึงการบริหารว่าเป็นศิลป์ในการปฏิบัติงานให้กิจกรรมต่าง ๆ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ นอกจากนี้สมพงศ์ เกษมสิน (2517 : 6) ได้กล่าวถึงการบริหารคือการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการนำเอาทรัพยากรการบริหาร (Administrative Resources) มาประกอบกันตามกระบวนการบริหาร (Process of Administration) ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงกล่าวได้ว่าการบริหารเป็นกระบวนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องมีการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การประเมินผล และการนำไปปรับปรุงพัฒนา เพื่อนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานหรือองค์กร
การบริหารงานวิชาการเป็นงานหนึ่งในหลาย ๆ งานในหน่วยงานหรือสถานศึกษา ซึ่งนักการศึกษาให้ความหมายไว้นานาทัศนะ ภิญโญ สาธร (2523 : 436) เห็นว่าการบริหารงานวิชาการ หมายถึง การบริหารกิจกรรมทุกชนิดในสถานศึกษาที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาการสอนให้เกิดผลดีแก่นักเรียน และมีประสิทธิภาพสูงสุด อุทัย ธรรมเตโช (2531 : 76) กล่าวถึงการบริหารงานวิชาการว่าเป็นการบริหารกิจกรรมทุกชนิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด และปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2535 : 16) ได้แสดงทัศนะว่า การบริหารงานวิชาการมองในแง่ของกระบวนการ หมายถึง กระบวนการบริหารกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางแผน การปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการประเมินผลการสอน เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและจุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน
จึงสรุปได้ว่าการบริหารงานวิชาการ หมายถึง กระบวนการจัดกิจกรรมในงานวิชาการ ซึ่งเป็นภารกิจหลักให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ กระบวนการดังกล่าวนี้ ได้แก่ การวางแผน การจัดระบบโครงสร้าง และการกำหนดบทบาทหน้าที่ การจัดดำเนินงานทางวิชาการ การผลิตสื่อและอุปกรณ์การศึกษา การวัดและประเมินผล การจัดบรรยากาศเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ การจัดแหล่งหรือศูนย์สารสนเทศ รวมทั้งการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ และการนิเทศภายในเพื่อให้งานวิชาการมีคุณภาพ

2.2 หลักการบริหารงานวิชาการ
หลักการบริหารงานวิชาการเป็นแนวคิดเพื่อปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จในการบริหารงานวิชาการจำเป็นต้องมีหลักการที่สำคัญ ๆ ดังนี้
2.2.1 หลักการพัฒนาคุณภาพ (Quality Management) เป็นการบริหารงานเพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ องค์ประกอบของคุณภาพที่เป็นตัวชี้วัดคือผลผลิตและกระบวนการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคลากรและผู้รับบริการได้รับความพึงพอใจ พัฒนาศักยภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคมในระดับสากลมากขึ้น โดยอาศัยกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา ได้แก่ การควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบคุณภาพ และการประเมินคุณภาพ
หลักการไคเซ็น (KAIZEN) มีเป้าหมายในการเสนอแนะเพื่อแสดงถึงคุณภาพไว้ 6 ประการ(รุ่ง แก้วแดง. 2538 : 144-145)
1) ผลผลิตเพิ่มขึ้น
2) คุณภาพสูงขึ้น
3) ต้นทุนลดลง
4) ตรงตามเวลาที่กำหนดหรือประหยัดเวลามากขึ้น
5) มีความปลอดภัยมากขึ้น
6) บุคลากรและผู้รับบริการมีขวัญและกำลังใจสูงขึ้น

หลักการของไคเซ็นมีกระบวนการ 7 ขั้นตอน ดังนี้
1) สังเกต ค้นหาจุดที่เป็นปัญหา เช่น ความสูญเปล่า ความไม่สม่ำเสมอ สุดวิสัย เช่น ปัญหาด้านคุณภาพ ต้นทุนสูง ความปลอดภัยน้อย เวลาต้องล่าช้าอยู่เป็นประจำ
2) สืบสวน ตรวจตรา สภาพการณ์ปัจจุบัน
3) คิดค้น ออกความคิดว่าหากทำเช่นนี้แล้วจะเป็นอย่างไรบ้าง
4) สะสาง การจัดระบบ จัดหมวดหมู่
5) ปฏิบัติ ดำเนินการปรับปรุง โดยทดลองทำและสังเกตดูว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร
6) ติดตามตรวจสอบประสิทธิผล จนกว่าผลลัพธ์จะคงที่
7) สรุป ทำรายงาน เขียนข้อเสนอแนะ

2.2.2 หลักการมีส่วนร่วม (Participation) การปรับปรุงคุณภาพของกระบวนการบริหารได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอตลอดเวลา โดยทุกคนในหน่วยงานมีส่วนร่วมเสนอแนะปรับปรุงและพัฒนา หลักการมีส่วนร่วมต้องการให้ทุกคนได้ร่วมกันทำงาน ซึ่งลักษณะของงานวิชาการต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาจดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการวิชาการ ซึ่งจะมีเป้าหมายการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพได้มากขึ้น การมีส่วนร่วมต้องเริ่มจาก การร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมประเมินผล

2.2.3 หลักการ 3 องค์ประกอบ (3-Es) ได้แก่ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัด
1) หลักประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง การปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ เป็น
ไปตามขั้นตอนและกระบวนการ มีปัญหาและอุปสรรคอย่างไรในขณะดำเนินการก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ มีประสิทธิภาพเน้นไปที่กระบวนการ (Process) การใช้กลยุทธ์และเทคนิควิธีต่าง ๆ ที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด
2) หลักประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ได้ผลผลิต (Outputs) ตาม
วัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ตรงตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร มีความรู้ความสามารถ มีทักษะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้รับ อย่างไรก็ตามมักใช้คำสองคำนี้ควบคู่กันคือมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล
3) หลักประหยัด (Economy) หมายถึง การใช้เวลาน้อย การลงทุนน้อย การใช้
กำลังหรือแรงงานน้อย โดยไม่ต้องเพิ่มทรัพยากรทางการบริหาร แต่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวัง ดังนั้น การลงทุนในทางวิชาการจึงต้องคำนึงถึงความประหยัดด้วยเช่นเดียวกัน ผู้บริหารจะใช้กลวิธีอย่างไรในการบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพโดยอาศัยความประหยัดบุคลากร งบประมาณ วัสดุและเทคโนโลยี และใช้เวลาน้อยอีกด้วย

2.2.4 หลักความเป็นวิชาการ (Academic) หมายถึง ลักษณะที่ครอบคลุมเนื้อหาสาระของวิชาการ ได้แก่ หลักการพัฒนาหลักสูตร หลักการเรียนรู้ หลักการสอน หลักการวัดผลประเมินผลหลักการนิเทศการศึกษาและหลักการวิจัย เป็นต้น หลักการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ก่อให้เกิดลักษณะความเป็นวิชาการที่ต้องอาศัยองค์ความรู้เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ดังนั้น การบริหารงานวิชาการจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในหลักการเฉพาะเรื่องในบทต่อไป
สรุปได้ว่า หลักการบริหารงานวิชาการต้องคำนึงถึงการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ทำให้ดีที่สุดนำไปสู่คุณภาพที่คาดหวัง คำนึงถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษา โดยให้บุคลากรทุกฝ่ายได้รับผิดชอบร่วมกันทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ คำนึงถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลและความประหยัด การดำเนินงานทางวิชาการโดยอาศัยหลักการดังกล่าวย่อมจะสามารถบรรลุความสำเร็จคือความเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence)

2.3 ทฤษฎีทางการบริหาร
การบริหารงานวิชาการจำเป็นต้องนำศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับธรรมชาติขององค์การ ผู้บริหารต้องสร้างทักษะในการบริหาร เพื่อพัฒนาองค์การให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทฤษฎีทางการบริหารที่นำมากล่าวถึงมีดังนี้
2.3.1 การบริหารเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) ผู้ก่อตั้งคนแรกของความคิดนี้ และได้นำมาใช้ได้เป็นผลสำเร็จ ได้แก่ Frederick W. Taylor มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสิ่งที่ต้องการไว้ สำหรับการปฏิบัติงาน แทนที่ผู้ปฏิบัติงานต้องทำตามตนเองคิด เทเลอร์ พยายามหาวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งได้หลักการมีขั้นตอน ดังนี้ (Hampton, 1986 : 60)
1) การวิเคราะห์งาน (Analyze task) ผู้บริหารจะต้องทำการวิเคราะห์งานก่อนว่ามี
องค์ประกอบหรือส่วนงานอะไรบ้าง มีมาตรฐานอะไรบ้าง อุปกรณ์เครื่องมือ และการจัดเวลารวมทั้งเวลาพักผ่อน และเวลาที่ยืดหยุ่นได้
2) กำหนดคุณสมบัติของบุคคลเข้าปฏิบัติงาน (Design one best way to perform it) ผู้บริหารต้องพิจารณาว่าบุคคลที่มีคุณลักษณะเช่นไร มีความเหมาะสมกับงาน โดยพิจารณาทั้งด้านความสามารถทางสติปัญญาและความสามารถทางร่างกาย วุฒิการศึกษา อายุ และประสบการณ์ เป็นต้น
3) คัดเลือกบุคคล (Select workers) เป็นขั้นที่ผู้บริหารต้องคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานโดยใช้เกณฑ์คุณสมบัติที่กำหนดไว้
4) ฝึกอบรมบุคลากร (Train workers) เพื่อให้บุคลากรมีทักษะการปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีการแนะนำ ชี้แจง ฝึกประสบการณ์ ให้เกิดความชำนาญ โดยอาศัยการอบรม หรือการประชุม การสัมมนาเพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

5) การให้สิ่งจูงใจหรือแรงเสริม (Pay incentives) ผู้บริหารต้องจัดค่าตอบแทนให้บุคลากร เพื่อจูงใจในการปฏิบัติงาน สร้างความพึงพอใจแก่บุคลากรทุกฝ่าย และเป็นการเพิ่มประสิทธิผลอีกด้วย
การปฏิบัติงานตามหลักการห้าขั้นตอนนี้ ทำให้เทเลอร์ประสบความสำเร็จและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น บุคลากรมีความพึงพอใจไม่เหนื่อยหน่ายปฏิบัติงานด้วยความกระตือรือร้น ผู้บริหารยังต้องทำหน้าที่ วางแผน จัดองค์กร ให้คำชี้แนะ และควบคุมการปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถนำหลักการดังกล่าวของเทเลอร์ไปใช้กับการบริหารงานวิชาการได้เช่นเดียวกัน

2.3.2 ทฤษฎีการบริหารเชิงการจัดการ (Administrative Management) ผู้คิดค้นหาวิธีการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จ และคิดในเรื่องการจัดการ ได้แก่ Henri Fayol โดยเน้นให้ความสำคัญกับหน้าที่ทางการบริหารจัดการ ซึ่งมีหลักการดังต่อไปนี้ (Hampton. 1986 : 61-62)
1) การแบ่งงาน (Division of work) เป็นการกำหนดภารกิจและความรับผิดชอบให้บุคลากร
2) มอบอำนาจความรับผิดชอบ (Authority) ให้ผู้ปฏิบัติได้ทำตามบทบาทหน้าที่ และรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น รวมทั้งคำนึงถึงการให้รางวัล และผลตอบแทนที่เหมาะสม
3) กฎระเบียบ (Discipline) จัดให้มีกฎและระเบียบ หรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติได้เข้าใจตรงกัน และจำเป็นต้องอาศัยการแนะนำ การนิเทศที่ดี
4) เอกภาพการสั่งการ (Unity of command) งานควรได้รับคำแนะนำ หรือคำสั่งจากผู้บริหารหรือหัวหน้างานเท่านั้น
5) เอกภาพของการกำหนดทิศทาง (Unity of direction) ผู้บริหารต้องกำหนดทิศทาง เป้าหมาย แต่ละงานให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการประสานงาน การสร้างเอกภาพ และการเน้นการปฏิบัติ
6) การรวมความสนใจของแต่ละคนให้เป็นหนึ่งเดียว (Subordination of individual interests to general interest) ความทะเยอทะยาน ความเห็นแก่ตัว ความขี้เกียจ ความอ่อนแอ ความเบื่อหน่าย และสิ่งไม่พึงประสงค์ ของบุคคลเป็นสาเหตุมีผลต่อพฤติกรรมองค์การโดยส่วนรวม ผู้บริหารจำเป็นต้องละลายสิ่งเหล่านั้นให้หมดไป และสร้างตัวอย่างที่ดีและการนิเทศที่เหมาะสมและยุติธรรม
7) การให้รางวัลหรือค่าตอบแทนแก่บุคลากร (Remuneration of personnel) ผู้บริหารจัดรางวัลหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานดีขึ้น
8) การรวมศูนย์ (Centralization) องค์การจำเป็นต้องมีการประสานงาน การสั่งการ โดยอาศัยส่วนกลาง อย่างไรก็ตามอาจมีความจำเป็นต้องกระจายอำนาจหรือความรับผิดชอบขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะงาน การรวมศูนย์จะทำให้สามารถกำหนดศักยภาพของบุคลากรไปในทิศทางเดียวกัน
9) สายงานของการบริหาร (Scalar chain) เป็นการกำหนดสายบังคับบัญชาจากเบื้องบนสู่ระดับล่าง ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางให้มีเอกภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามการที่มีสายงานบริหารยาวเกินไป การสื่อสารก็ย่อมมีอุปสรรค และการตัดสินใจที่ไม่ดี ส่งผลต่อการบริหารจัดการด้วยเช่นเดียวกัน
10) การลำดับขั้นการบังคับบัญชา (Line order) เป็นการวางคนให้เหมาะกับสายงานเดียวกันได้เพื่อสะดวกต่อการประสาน กำกับ ติดตามผล
11) ความเท่าเทียมกัน (Equity) ผู้บริหารต้องให้ความเท่าเทียมและยุติธรรมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งผลต่อความซื่อสัตย์และการปฏิบัติงานที่ดี
12) ความมีเสถียรภาพของบุคลากร (Stability tenure of personnel) ผู้บริหาต้องคำนึงถึงเสถียรภาพหรือความมั่นคงในการปฏิบัติงานของบุคลากร การเปลี่ยนแปลงหน้าที่รับผิดชอบบ่อย ๆ ย่อมส่งผลต่อการทำลายขวัญและประสิทธิภาพ
13) ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Initiative) ผู้บริหารจำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนได้ริเริ่มสร้างสรรค์ให้สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมายมากที่สุด โดยการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ และร่วมประเมินผล เป็นต้น
14) การพัฒนาทีมงาน (Espirit de corps) ผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือและการประสานงานที่ดี
องค์ประกอบทั้ง 14 ประการนี้จะทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง Gulick and Urwick ได้สรุปเป็นแนวความคิดทางการบริหารโดยใช้คำย่อว่า “POSDCoRB” ได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การจัดบุคลากร การสั่งการ การประสานงาน การรายงาน และการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ทางการบริหารที่ผู้บริหารต้องปฏิบัติ ดังนั้น การบริหารงานวิชาการจึงต้องนำหลักการดังกล่าวนี้ ไปประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน เพื่อให้งานวิชาการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

2.3.3 ทฤษฎีการบริหารเชิงมนุษยสัมพันธ์ (Human Relations) เป็นทฤษฎีการบริหารเน้นความสัมพันธ์ของบุคคล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรหรือผู้บริหารกับผู้ร่วมงาน ผู้ให้ความคิดนี้ได้แก่ Elton Mayo ให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่มีต่อกัน เน้นองค์ประกอบทางด้านสังคมและจิตวิทยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต และส่งเสริมความมีชีวิตที่ดี เมโย ได้กล่าวไว้ว่า “คนไม่ได้ถูกแยกให้มีความโดดเดี่ยวลำพัง ซึ่งแสวงหาหรือสนใจแต่รายได้หรือการงาน แต่เขายังต้องเป็นสมาชิกอยู่กับกลุ่ม ต้องการความพึงพอใจจากสังคมอีกด้วย” เมโย ได้สรุปปัจจัยที่สำคัญและเป็นองค์ประกอบต่อประสิทธิภาพขององค์การไว้ดังนี้
1) ขวัญ (Moral) บุคลากรจะต้องมีขวัญและกำลังใจที่ดีในการทำงาน ผู้บริหารต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจ โดยการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน
2) ระดับความปรารถนา (Level of aspiration) ทุกคนมีความปรารถนาต่อชีวิต เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ตนเองและครอบครัว หรือสังคม ดังนั้น การตั้งความหวัง เพื่อพัฒนาไปสู่ความปรารถนาสูงสุดย่อมเป็นแรงผลักดันให้การปฏิบัติงานมีความสำเร็จ
3) ความตระหนักในตนเอง (Self-realization)บุคลากรจะต้องสร้างความตระหนักในบทบาทและหน้าที่ ผู้บริหารต้องเห็นความสำคัญของทุกคน ทุกส่วน ประกอบกันในองค์การ การรู้และเข้าใจในหน้าที่ของตนเอง จะเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานร่วมกัน
4) ความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of belonging) การให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของจะสร้างความผูกพันต่อองค์การมากขึ้น มนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานดี มีความอบอุ่น มีชีวิตชีวาทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของ ต้องการให้องค์กรที่ปฏิบัติงานประสบความสำเร็จ และไม่ละทิ้งหน้าที่ของตนเอง
5) การมีส่วนร่วมในการทำงาน (Participation)ผู้บริหารต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการคิด วางแผนแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ร่วมปฏิบัติ และร่วมประเมินผล การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ก่อให้เกิดความร่วมมือและก่อให้เกิดผลต่อองค์ประกอบอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วอีกด้วย



วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

หัวใจปฏิรูปการศึกษา


ถ้าท่านศึกษาหลักการของการปฏิรูปการศึกษาหรือพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ท่านจะมองเห็นว่าหัวใจของพระราชบัญญัติการศึกษาหรือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาตินั้น อยู่ที่การยกระดับคุณภาพประชากรของประเทศให้สูงขึ้น ทำไมเราต้องยกระดับประชากรของประเทศให้สูงขึ้น ก็เพราะว่าเรามีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่า ถ้าคุณภาพของประชากรของประเทศไม่ได้รับการยกระดับ ไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นแล้ว ประเทศไทยของเราจะไม่สามารถพัฒนาเท่าเทียมหรือแม้แต่วิ่งตามประเทศอื่น ๆ จะทำได้ยากถ้าเราไม่ยกระดับประชากรของประเทศให้สูงขึ้น ประเทศไทยจะเสียเปรียบมากในประชาคมโลก นอกจากจะเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจขณะนี้เราก็มองเห็นชัดเจนว่า เรามีปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะว่าคนของเรายังไม่สามารถจะคิด สามารถที่จะทำงานได้เหมือนคนต่างประเทศ เราต้องไปพึ่งพาอาศัยเขาตลอดเวลา คนอื่นเขาคิดอย่างไรเราก็ตามไม่ทัน นอกจากนั้นถ้าเราไม่เร่งรีบพัฒนาคนในชาติ ทางด้านสังคมเราก็จะขาดทุน สังคมภายนอกก็จะเข้ามา มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ต่อวัฒนธรรมไทย โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่ระบบสื่อสาร ไร้พรมแดน สื่อมวลชนต่าง ๆ วิทยุ โทรทัศน์ แม้แต่ Internet สารพัดอย่างเข้ามาหาตัวเรา ดีบ้าง เลวบ้าง ถ้าคนของเราไม่มีการศึกษาที่ดีพอเราก็จะได้รับข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ดี แล้วก็ชักจูงเราไปในทางที่เสีย หลงไปในทางที่ผิด อิทธิพลสื่อสมัยใหม่นี้ ร้ายแรงมาก


เพราะฉะนั้น เราต้องคิดพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพการศึกษาของคนในประเทศให้สูงขึ้น เราจะยกให้สูงขึ้นในเรื่องอะไร ขณะนี้ความคิดที่เรามองเห็นสอดคล้องตรงกันก็คือ คนในประเทศต่อไปนี้จะต้องมีคุณสมบัติหลาย ๆ ด้านจึงจะพาประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้ ด้านแรกก็คือ คนของเราจะต้องเป็นคนเก่ง คนเก่งคือคนมีความรู้ ความรู้ก็ต้องเป็นความรู้หลาย ๆ ด้าน เป็นความรู้ที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ขณะนี้โลกยุควิทยาศาสตร์ ก็ต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เข้าโลกยุคเทคโนโลยี ก็ต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี เขารู้เรื่องคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็น ต้องมีความรู้ ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ อีกด้านหนึ่งเราต้องการคนดีของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่สับสนวุ่นวายอยู่ในขณะนี้ ปัญหาของคนดีอยู่ที่ว่าเรามีคนดีมากหรือน้อยในสังคม ถ้าคนมีคุณธรรม มีจริยธรรม รู้จักหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยัน มีความอดทน ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลอยู่ในธรรม ตามลัทธิ ตามความเชื่อทางศาสนาที่ตนเองเคารพนับถือ คนนั้นจะเป็นคนดี คนที่ดีก็จะไม่ไปคดโกงคนอื่นไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง ไม่คิดเอาเปรียบหรือคิดร้ายคนอื่น ถ้าคนของเรา มีคุณธรรม มีจริยธรรม สังคมก็เป็นสุข สังคมก็สงบ นอกจากสังคมเป็นสุขมีความสงบแล้ว คนก็จะมาช่วยเหลือกันร่วมมือกัน คนร่วมมือกันสังคมก็เจริญก้าวหน้า ยิ่งถ้ามีคนเก่งมาช่วยเหลือก็ยิ่งทำให้สังคมมีความเจริญงอกงาม ประเทศไทยของเราก็จะเจริญ งอกงาม ไปด้วย


ดังนั้นสิ่งที่เรามุ่งหวัง เราอยากได้คนเก่ง เราอยากได้คนดี เราอยากได้คนที่รักสังคม รักสิ่งแวดล้อม อยากได้คนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น อยากได้คนที่ขยันขันแข็ง ทำมาหากินประกอบการงานอาชีพ นี่คือสิ่งที่เราปรารถนาอยากจะเห็นว่าการศึกษาช่วยประเทศชาติ โดยการสร้างคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ถ้าเราสร้างมากเท่าไหร่ประเทศชาติเราก็จะเจริญเร็วเท่านั้น ถ้าเรามีน้อยประเทศของเราก็จะพัฒนาไปได้ช้า เราคิดกันต่อไปว่าถ้าเราอยากจะได้คนอย่างนี้จะทำอย่างไรคนเก่งต้องเก่งตลอดไป ไม่ใช่เก่งวันที่เข้าโรงเรียน ออกจากโรงเรียนแล้วไม่เก่ง ต้องเก่งไปเรื่อย ๆ คนที่จะเก่งได้และเก่งไปได้นาน ๆ เป็นคนดีได้นาน ๆ จะต้องเป็นคนที่พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา คนที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาต้องเป็นคนที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา


เราต้องการให้ประชากรของประเทศสนใจศึกษาแสวงหาความรู้ ถ้าเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ยิ่งดี เป็นปรัชญาของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้คนได้ศึกษาพัฒนาตนเองตลอดชีวิต การทำให้คนพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต เขาต้องรักการเรียน เราต้องสร้างนิสัยรักการเรียนให้เกิดขึ้นนอกจากสร้างนิสัยให้เขารักการเรียนแล้ว เขาจะต้องรู้วิธีค้นคว้า หาความรู้ รู้จักแหล่งความรู้แหล่งต่าง ๆ เมื่อรู้จักการเรียนรู้แล้วเขาก็เรียนรู้ตลอดชีวิตและก็เป็นคนพัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายการศึกษาที่เราต้องการสร้างคน ยกระดับคนให้สูงขึ้น เมื่อเราคิดสร้างคนในลักษณะนี้แล้ว เราจะสร้างคนออกมาเป็นอย่างไร เป็นพิมพ์เดียวกันทุกคน ๆ หรือเปล่า มนุษย์จะไปทำเหมือนเครื่องจักรไม่ได้ เพราะมนุษย์มีชีวิต มีจิตใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน กระบวนการสร้างคนจะต้องสร้างบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่าคนสามารถเรียนรู้ได้ ก็แปลว่าเราคิดว่าบางคนโง่เกินไปไม่ต้องเรียนหนังสือ บางคนฉลาดเกินไปไม่ต้องเรียนหนังสือ เอาเฉพาะคนที่ปานกลางมาเรียน แต่จริง ๆ แล้วคนทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ไม่มีคนที่ฉลาดเกินไปที่ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่มีคนพิการเกินไปจนกระทั่งเรียนรู้ไม่ได้ แม้แต่คน ตาบอดก็เรียนรู้ได้ คนหูหนวกก็เรียนรู้ได้ บางคนเป็นง่อยก็เรียนรู้ได้ เขาจะมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน อันนี้จะต้องวางความเชื่อพื้นฐานให้เกิดขึ้น ให้เข้าใจว่าคนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ แล้วการที่จะพัฒนาประเทศยกระดับประเทศให้สูงขึ้น ต้องยกระดับคนทุกคนของประเทศให้สูงขึ้น ไม่ใช่เลือกยกบางคนให้คนบางคนได้เรียน เมื่อเราคิดว่าจำเป็นต้องยกระดับคนทุกคนให้สูงขึ้น จึงเป็นที่มาของความคิดที่ว่าต่อไปนี้เราจะต้องจัดการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ให้กับคนทุกคน เราต้องยอมรับธรรมชาติความจริงอย่างหนึ่งว่าคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน เมื่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะให้เรียนเป็นบล๊อก ๆ เหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ หลักปรัชญาการศึกษา ความเชื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ นั่นคือเราจะต้องส่งเสริมให้แต่ละคนได้พัฒนา ได้เรียนรู้ ตามพื้นฐานตามความถนัด ตามความสามารถของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนเรียนได้เร็วก็ไปเร็ว บางคนเรียนช้าก็ไปช้า บางคนถนัดคิดคำนวณ ก็เรียนไปทางคิดคำนวณ บางคนถนัดไปทางด้านศิลปะขับร้องดนตรีก็เน้นไปทางด้านนั้น บางคนถนัดทางด้านการกีฬาก็เน้นไปทางด้านการกีฬา แต่จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถเรียนรู้ได้หมดทุก ๆ ด้าน และต้องเรียนรู้ผสมผสานบูรณาการ เรียนรู้หลาย ๆ อย่างกว้าง ๆ แต่สามารถจะเน้นความถนัด ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ตามความสนใจของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ระบบการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต จะต้องเป็นระบบที่ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาไปตามความถนัด ตามความสามารถของแต่ละคนแต่ละคน ทั้งหมดนี้เป็นหลักการใหญ่ ๆ ของการปฏิรูปการศึกษาที่ว่าเราจะทำอะไร ทำเพื่อใคร ทำอย่างไรเราจะทำให้เกิดผลอย่างนี้ได้



การปฏิรูปทำให้คนได้เรียนรู้ได้พัฒนาตามความถนัด ตามศักยภาพหมดทุกคนทั่วประเทศ ให้ทุกคนได้รับการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี และมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี แล้วก็จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เขาสร้างนิสัยในการเรียนรู้ ให้เขาเรียนรู้ด้วยการแสวงหาความรู้ รู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ รู้จักค้นพบคำตอบต่าง ๆ ด้วยตนเอง การทำอย่างนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ หัวใจก็อยู่ที่ครู เพราะว่าครูคือผู้มีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน จัดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นมา บทบาทของครูในอนาคตคือ การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ผู้เรียนที่จะต้องเกิดการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางและหลากหลาย หรือทันสมัย ทั้งหมดจะทันสมัยกว้างขวาง หลากหลายจะต้องคำนึงถึงการรักษาวัฒนธรรมรักษาความเป็นไทยเอาไว้ให้ได้ด้วย ความหวังนี้จึงฝากไว้ที่ครู ครูจะต้องทำบทบาท ทำหน้าที่อย่างนี้ได้ ครูที่จะทำหน้าที่อย่างนี้ได้ จะต้องเป็นคนไม่เหมือนคนธรรมดา เพราะถ้าเป็นคนเหมือนคนธรรมดาก็ทำโดยวิธีธรรมดา ผู้เรียนก็ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงว่าครูอาชีพ อาชีพครู และเขาบอกว่าขณะนี้ เรามีคนที่ประกอบอาชีพครูมาก แต่เรามีครูอาชีพน้อย แสดงว่ากำลังมองดูว่าครูของเราทำงานไม่ได้ผลตามที่คนอื่นเขาคิดหวัง ถ้าเราทำได้ตามที่คนอื่นคาดหวังเขาเรียกว่า “ครูอาชีพ” หนักไปกว่านั้นบางคนวิพากษ์วิจารณ์บอกว่าต่อไปนี้เราต้องสร้างครูพันธุ์ใหม่ พันธุ์ปัจจุบันมันเป็นอย่างไร เป็นการมองเห็นว่า ระบบครูในปัจจุบันเขามี ความสงสัยว่าจะสามารถทำหน้าที่อย่างที่ทุกคนคาดหวังได้หรือไม่ เพียงใด ผมมีความเชื่อว่าพวกเราซึ่งอยู่ในระบบขณะนี้สามารถ ทำหน้าที่ได้ เหตุที่เราทำหน้าที่ไม่ได้เพราะเราขาดปัจจัยเกื้อหนุนและสนับสนุน แต่ก็ยอมรับว่ามีครูบางคน บางกลุ่ม อาจทำหน้าที่นั้นไม่ได้ ซึ่งถ้าหากว่าบางคนบางกลุ่มเราเอาปัจจัยเกื้อหนุนปัจจัยสนับสนุนใส่เข้าไปแล้วก็ยังไม่สามารถปรับตัวทำหน้าที่นี้ได้ เราก็เชิญเขามาดูการทำหน้าที่ของพวกเราที่ทำหน้าที่ได้ต่อไป จึงมีความคิดที่ต้องพัฒนาครูในระบบให้มีคุณภาพสูงขึ้น จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู มีมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อประกันว่าคนที่เป็นครูนั้นต้องเป็น ผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความประพฤติที่ดี มีเจตคติที่ดี เหมาะสมที่จะเป็นครูอย่างแท้จริง ตรงนี้คือมีองค์กรวิชาชีพครู และมีการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพครู คนที่จะเป็นครูต่อไปในอนาคตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ และเมื่อปฏิบัติในวิชาแล้วก็จะต้องมีการกำหนดให้พัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนมาตรฐานวิชาชีพให้สูงขึ้น ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เป็นครูใหม่ ๆ เขาก็อาจจะเรียกว่าครูปฏิบัติการ พอทำ ๆ ไป พิสูจน์ให้เขาเห็นว่ามีความเก่งกล้าสามารถมากขึ้น ก็อาจจะเลื่อนเป็นครูชำนาญการ พอเป็นครูชำนาญการก็มีค่าตอบแทนให้ แล้วก็ให้ท่านพัฒนาตนเองสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่พัฒนาตนเองอาจจะมีเงื่อนไขว่าอยู่ตรงนี้ไม่พัฒนาตนเอง 8 ปี 10 ปี ก็เชิญไปทำหน้าที่อื่น เพื่อให้คนที่เหมาะจะเป็นครูให้มาทำหน้าที่แทน ดังนั้น คนที่เป็นครูในอนาคตต้องตื่นตัวจะไปทำตัวแบบยึดอาชีพเป็นครูก็ไม่ได้ จะต้องทำตัวเป็นครูอาชีพคือการพัฒนาตนเอง ผู้บริหารก็เช่นเดียวกัน การปฏิรูปการศึกษา การยกระดับคุณภาพการศึกษาในอนาคตเราฝากความหวังไว้ที่ ผู้บริหารมาก เพราะว่าผู้บริหารจะเป็นผู้นำ งานวิจัยทั้งหลายชี้ชัดเจนว่า ความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาในสถานศึกษา แต่ละแห่งกว่าร้อยละ 50 เป็นผลเนื่องจาก ผู้บริหาร แปลว่าถ้าให้ผู้บริหารที่เป็นผู้นำที่ดี โรงเรียนก็พัฒนาไปได้ดี แต่ถ้าผู้บริหารไม่เอาไหนชักนำโรงเรียนไปในทางที่ไม่ดี โรงเรียนก็ไม่ได้รับการพัฒนาครูอีก 10 คน 20 คน ช่วยดึงได้ประมาณร้อยละ 50 แต่ผู้บริหารดึงไปประมาณร้อยละ 50 เราตั้งความหวังไว้ที่ผู้บริหาร ผู้บริหารต่อไปต้องเป็นผู้บริหารมืออาชีพเช่นเดียวกัน จะต้องมีการรับรองมาตรฐานวิชาชีพ ผู้บริหาร มีใบประกอบวิชาชีพ ผู้บริหาร จะต้องมีการคัดเลือกผู้บริหาร และมีระบบการตอบแทนผู้บริหารในทิศทางเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือแนวทางของการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการศึกษา เราคิดว่าจะสำเร็จนำไปสู่การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมีมาตรฐานให้สูงขึ้น นอกจากเรื่องครูแล้ว เรายังเชื่อมั่นว่าการศึกษาจะต้องเป็นของประชาชน ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม มาช่วยกันทำ มาช่วยกันดูแล มาช่วยกันสนับสนุน เรียกว่าการศึกษาเป็นของประชาชน แล้วก็ให้ประชาชนทุกคนมาช่วยกัน และให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษา เพราะฉะนั้นหลักการจัดการศึกษา ในอนาคตเขาจึงใช้หลักกระจายอำนาจ ส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนได้มาช่วยกันดูแล การศึกษาเป็นหลักกระจายอำนาจ เพราะฉะนั้นโครงสร้างระบบการบริหารการศึกษาก็จะเป็นโครงสร้างแบบกระจายอำนาจ ท่านคงทราบแล้วถึงปี พ.ศ. 2545 เราจะไม่มีกระทรวงศึกษาธิการ แต่เราจะมีกระทรวงการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม แล้วก็ตัวกระทรวงนั้นจะทำหน้าที่เพียง 4 อย่างเท่านั้นที่สำคัญคือ จะไม่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศึกษา แต่ทำหน้าที่เป็น ผู้กำหนดนโยบายและแผน ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามประเมินผล ไม่จัดเอง การศึกษาจะกระจายออกไป ถ้าเป็นอุดมศึกษาก็จะเป็นอิสระออกไป โดยสรุปการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ทำเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง เราจะทำสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนจะต้องร่วมมือ ช่วยกันอย่างแข็งขัน การปฏิรูปการศึกษา ในครั้งนี้มีแต่ได้ประโยชน์และคนที่จะได้ประโยชน์มากคือประเทศชาติ เด็กและเยาวชนที่จะทำให้ระบบการศึกษาของเราเจริญก้าวหน้าขึ้น ขณะนี้เราเป็นผู้นำของโลกในเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ทั่วโลกเขากำลังจับตามองว่าเราจะทำได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็อยู่ในมือของพวกเราทุกคน ก็ขอตั้งความหวังและเชื่อว่าทุกคนจะช่วยพัฒนา การศึกษาของเราได้อย่างเต็มที่ต่อไป

นักเรียนและหลักสูตร

นักเรียนและหลักสูตร

การศึกษาที่ดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ต้องยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นต้องส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนอย่างมีความสุข ให้การเรียนการสอนสอดคล้องกับความต้องการและสภาวะของผู้เรียนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม และสอดคล้องกับธรรมชาติของการเรียนรู้

๑. จะให้กรมวิชาการร่วมกับสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา องค์กรส่วนท้องถิ่น
และชุมชนปรับหลักสูตร วิธีเรียน วิธีสอน ตลอดจนวิธีวัดผลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา ให้การเรียนการสอนเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของตัวผู้เรียน ให้คิดเป็น ทำเป็น มีความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน พึ่งตนเองได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้มีวิถีชีวิตตามระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การเรียน การสอนจะเน้นกระบวนการเรียนรู้จากการทำจริงให้มาก เป็นไปตามธรรมชาติไม่จำเป็นต้องเร่งรัด ไม่สอนแบบ "ยัดทะนาน" แต่จะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากรู้อยากเห็นอยากเรียน นักเรียนจะเรียนอย่างมีความสุข

๒. จะให้กรมวิชาการกระจายอำนาจส่วนใหญ่ในการจัดทำหลักสูตร การประเมินผลการเรียนการสอนให้ท้องถิ่นสถานศึกษาและชุมชน ให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองความต้องการ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของผู้เรียนและชุมชนเอง

๓. จะส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชุมชน เชื้อชาติ และประเทศชาติ รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยส่งเสริมให้มีแหล่งความรู้ที่ดี สำหรับที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ เช่น ห้องสมุด หอไตร พิพิธภัณฑ์ การส่งเสริมนี้รวมถึงการให้มีบุคลากร เช่น บรรณารักษ์ที่ดี ให้มีวัสดุอุปกรณ์ เช่น หนังสื่อที่ดี ที่เหมาะสม ทันเหตุการณ์ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ มีระบบอินเตอร์เนต มีการจัดให้บริการที่ใช้ง่าย สะดวก

๔. จะส่งเสริมให้สถานศึกษา และสถาบันทางศาสนาพัฒนาอาคารสถานที่ ให้สะอาด สงบ ร่มรื่นมีบรรยากาศเป็นกันเอง สะดวกต่อการเข้าไปใช้ เพราะการมีบรรยากาศที่ดี ร่มรื่น แจ่มใสนั้น เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และจะช่วยจูงใจให้คนเข้าไปใช้ ทำให้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ มีจิตใจละเอียดอ่อน เกิดการเรียนรู้ดียิ่งขึ้น

๕. จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาและสถาบันการศึกษาประเภทเทคนิคได้เรียนรู้ เข้าใจและสามารถปฏิบัติจริงในวิชาชีพที่เรียนเป็นประการสำคัญ สำหรับวิชาสามัญให้ถือเป็นองค์ประกอบของวิชาชีพนั้นๆ มิให้การศึกษาวิชาสามัญเป็นอุปสรรคทำลายจุดมุ่งหมายหลักของผู้เรียนที่มุ่งศึกษาวิชาชีพ เช่น นักศึกษาสาขาเกษตรกรรม จะต้องเรียนรู้ เข้าใจเกี่ยวกับการเกษตร ต้องได้รับการส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ มีความสามารถปฏิบัติจริง ได้ทำจริงเต็มตามหลักสูตร การเกษตรที่วางไว้มิใช่ต้องเรียนวิชาสามัญจนไม่มีเวลาทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ ให้ผู้เรียนได้เห็นมรรคผลว่าการเกษตรที่ตนเรียนนั้นมีประโยชน์เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีสามารถเลี้ยงตนเองได้ ทำประโยชน์ให้สังคม และประเทศชาติได้

๖. จะส่งเสริมโครงการคุรุทายาท ให้ได้รับการปฏิบัติจริงจัง ตั้งแต่การคัดเลือกคนดี คนเก่ง มีศักยภาพที่จะเป็นครูที่ดี ได้มีโอกาสรับทุนเข้าเรียนเป็นนักเรียนฝึกหัดครู มีระบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับวิชาชีพที่จะไปเป็นครู มีระบบการฝึกอบรมที่เข้มข้น กำหนดให้นักศึกษาตามโครงการนี้จะต้องเป็นนักศึกษาประเภทอยู่ประจำ ครู - อาจารย์จะได้ดูแลอบรมบ่มนิสัยความเป็นครูให้ได้อย่างเข้มข้น และเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องได้รับการบรรจุตามที่ได้ตกลงกันไว้ โครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องการให้ได้คนดี คนเก่งเป็นครู มุ่งจูงใจให้นักเรียนดี นักเรียนเก่งสนใจสมัครเรียนครู มุ่งเน้นให้มีการอบรมและคัดเลือกผู้ที่จะเป็นครูแบบเข้มข้น โดยจะดำเนินการโครงการคุรุทายาทแบบสมบูรณ์แบบให้ได้ในปีการศึกษา ๒๕๔๓

๗. จะส่งเสริมดูแลให้มีการจัดโครงการเกษตรเพื่อชีวิตในวิทยาลัยเกษตรกรรมทุกแห่ง ให้นักศึกษาสามารถปฏิบัติได้จริง ได้ผล ให้มีรายได้ระหว่างเรียนและให้สามารถออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนได้ ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติได้

๘. ในโรงเรียนประถมศึกษาให้จัดให้มีการทำการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ไม้ผล และมีการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการส่งเสริมหลักสูตรให้สามารถเสริมโครงการอาหารกลางวันได้จะได้ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของครอบครัว
ในโรงเรียนมัธยมศึกษา วิชาการงานสำหรับมัธยมศึกษาตอนต้น และวิชาพื้นฐานอาชีพสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย จะจัดให้มีโครงการเพิ่มสำหรับผู้ที่เรียนแผนการเรียนเกษตรกรรม โดยเน้นการปฏิบัติจริงเป็นพิเศษ ให้ปลูกพืชผัก พืชผล ไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ยืนต้นและเลี้ยงสัตว์ จนสามารถช่วยครอบครัวได้ ช่วยโครงการอาหารกลางวันได้ และอาจจำหน่ายได้บ้าง สำหรับนักเรียนในแผนอื่นก็เสนอให้มีโอกาสทำกิจกรรมด้านการเกษตรเช่นเดียวกันเพื่อเป็นพื้นฐานหรือเป็นอาชีพเสริมในอนาคตได้

๙. จะส่งเสริมให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันทุกคน (ซึ่งต่อไปจะต้องหมายถึง อาหารกลางวันที่มีคุณภาพทางโภชนาการด้วย) โดยขอให้สถานศึกษา สถาบันทางศาสนา ชุมชน องค์กรเอกชนต่างๆ ช่วยกันดูแล กระทรวงศึกษาธิการจะจัดงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับโรงเรียนและชุมชนที่ไม่สามารถดูแลให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันได้ทั่วถึง สำหรับโรงเรียนที่สามารถดูแลให้นักเรียนรับประทานอาหารกลางวันได้ทั่วถึงทุกคนแล้ว จะประกาศให้สาธารณรับทราบโดยทั่วกันเป็นรายโรง

๑๐. จะส่งเสริมการจัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาดและกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ให้แพร่หลาย เพราะกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ เช่น ความอดทน ความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีระเบียบวินัย ความเป็นผู้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความสามารถในการพึ่งตนเอง ความพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดจนความสามารถในการทำงานเป็นกลุ่ม รวมทั้งจะส่งเสริมให้ใช้แนวคิดเรื่องเพื่อนช่วยเพื่อน ในการป้องกันการใช้สารเสพย์ติด ในแต่ละหมู่ของลูกเสือ ให้ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ปล่อยให้เพื่อนหมู่ของตน คนใดคนหนึ่งเพลี่ยงพล้ำไปใช้สารเสพย์ติดได้ ทั้งนี้จะส่งเสริมให้นำระบบเพื่อนช่วยเพื่อนอย่างเข้มข้นภายในหมู่ หมู่ละ ๘ คน ของลูกเสือ เนตรนารี ฯลฯ ไปใช้ในโครงการโรงเรียนสีขาวด้วย