วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

จะจัดการศึกษาภาคบังคับให้มีคุณภาพได้จริงหรือ

มัณฑนา ศังขะกฤษณ์
ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ


การศึกษาภาคบังคับเป็นระดับการศึกษาที่จำเป็นที่สุดของคนไทย จึงต้องใช้คำว่า “บังคับ”เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ และยังต้องมีกฎหมายลูกที่กำลังยกร่างกันอีก เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า ระดับใดเป็นการศึกษาภาคบังคับ และจะบังคับทั้งฝ่ายผู้จัดฝ่ายผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างไรนอกจากนั้นในการจัดการศึกษาต่อไปนี้ยังต้องจัดการเรียนรู้แบบที่เด็กมีความสำคัญสูงสุด ซึ่งต้องมีแนวทางการจัดที่หลากหลายตามความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศที่เป็นอยู่นี้ ฝ่ายผู้จัดจะให้บริการผู้เรียนได้ทั่วถึง และที่สำคัญจะจัดให้มีคุณภาพได้อย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยหลัก ในการจัดการศึกษาภาค บังคับสำหรับเด็กไทยโดยมีองค์กรอื่นร่วมจัดด้วยได้แก่เทศบาล กรุงเทพ มหานครและอื่น ๆเดิมการศึกษาระดับนี้กำหนดไว้เพียงหกปี ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ละปีรัฐบาลจัดสรรงบ ประมาณ เพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ไม่นับรวมโรงเรียนเอกชน) ตั้งกระจายอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อ ให้บริการแก่เด็กในเขตชนบทซึ่งเป็นนักเรียนวัยการศึกษาภาคบังคับกลุ่ม ใหญ่ที่สุด โรงเรียนเหล่านี้รับผิดชอบจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา ผู้เรียนไม่ต้องจ่ายเงินบำรุงการศึกษาเพราะเป็นการจัดบริการแบบให้เปล่า แม้มีบางส่วนที่จัดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ ผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น แต่รัฐบาลก็จัดงบประมาณชดเชยเงินบำรุงการศึกษาให้
นักเรียนกลุ่มนี้มีความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหลายรายการ แต่บิดามารดา หรือผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาให้ได้ เพราะส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคม อาศัยอยู่ในชุมชนที่ขาดความพร้อม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ เพื่อจัดสรรได้เพียงบางรายการ อาทิ นักเรียนระดับประถมศึกษาได้รับ เป็นค่าแบบเรียนค่าสมุด - ดินสอ ค่าเครื่องแบบนักเรียนค่าอาหารเสริม (นม) ค่าอาหารกลางวันค่าพาหนะให้นักเรียนที่เดินทางลำบากทุนการศึกษานักเรียนที่อยู่ห่างไกลและชายแดน การให้บริการสุขภาพค่าเวชภัณฑ์ และผงฟลูออไรด์ รวมทั้งค่าเครื่องช่วยฟังสำหรับนักเรียนพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้รับ เป็นค่าแบบเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน เงินชดเชยบำรุงการศึกษา และการให้บริการสุขภาพ
แม้ว่าแต่ละปี รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเหล่านี้ ให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้แก่นักเรียนได้ทุกรายการ ยิ่งไปกว่านั้น รายการต่าง ๆ ที่งบประมาณดังกล่าวจัดไว้ ก็ยังไม่สามารถให้นักเรียนได้ครบทุกคนทุกรายการ จึงเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาความขาดแคลนให้แก่ นักเรียนบางกลุ่มที่มีอยู่ในสังคมเท่านั้น และหากจะต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ เก้าปีแบบให้เปล่า อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดให้ขยายการศึกษาภาคบังคับจากเดิมหกปีเป็นเก้าปีไว้ในมาตรา 17 พร้อมทั้งกำหนดแนวการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ในมาตรา 24 ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการดังนั้น นับแต่นี้ไปนักเรียนทุกคนจะต้องได้รับบริการทางการศึกษาโดย
1)ได้เรียนรู้เนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดตามความแตกต่างของแต่ละคน
2) ได้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ไปใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
3) ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
4) ได้เรียนรู้โดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
5) ได้เรียนรู้โดยผู้สอนจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและนักเรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
6) ได้เรียนรู้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ โดยมีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดาผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ
อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 58 ให้มีการระดมทรัพยากร และการลงทุน เพื่อใช้จัดการศึกษาทั้งจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน เอกชน องค์กรเอกชน องค์กร วิชาชีพสถาบันศาสนา สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศด้วย เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดบริการทางการศึกษาได้ตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมทั้งต้องจัดทำระบบ ข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียน ได้ตามเกณฑ์ความเพียงพอ ความเสมอภาคและความยุติธรรม อีกทั้งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการโรงเรียน โดยเฉพาะการร่วมวางแผน ตัดสินใจ และตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาณ อย่างจริงจัง
และประการสำคัญ ผู้บริหารโรงเรียนต้อง ไม่เป็นเพียงนักบริหารมืออาชีพเท่านั้น หากต้องเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ชั้นยอด สามารถระดมทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ายิ่งในแต่ละชุมชนทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น บุคลากรของหน่วยงานราชการหน่วยงานเอกชนองค์กร และสถาบันทางสังคมต่าง ๆ รวมทั้งวัดและศาสนสถานทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองมาช่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียนให้มากที่สุด ด้วยวิธีการเช่นนี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้ ค้นคว้าและค้นพบความรู้ต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมและธรรมชาติด้วยตนเอง และจะช่วยให้นักเรียนภาคภูมิใจในชุมชนของตนเองเป็นการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะชีวิตและหล่อหลอมให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น